วันศุกร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2562

17-พระโสณกุฎิกัณณเถระ เอตทัคคะในทางผู้มีวาจาไพเราะ



17-พระโสณกุฎิกัณณเถระ
เอตทัคคะในทางผู้มีวาจาไพเราะ

พระโสณกุฎิกัณณเถระ เป็นบุตรของอุบาสิกาชื่อว่า “กาฬี” ในเมืองราชคฤห์ เดิมชื่อว่า
“โสณะ” แต่เพราะท่านชอบประดับหูของท่านด้วยเครื่องประดับมีมูลค่ามากถึง ๑ โกฎิ จึงได้
นามว่า “กุฎิกัณณะ” เติมเข้ามาข้างหลังชื่อ ดังนั้นท่านจึงมีชื่อว่า “โสณกุฎิกัณณะ”
สมัยที่พระมหากัจจายนเถระ พักอาศัยอยู่ที่ภูเขาปวัตตะ แขวงเมืองกุรุรฆระ ใน
อวันตีทักขิณาปถชนบท มารดาของโสณกุฎิกัณณะ เป็นอุบาสิกาให้การบำรุงอุปัฏฐากท่าน เมื่อ
โสณกุฎิกัณณกุมารเจริญเติบโตขึ้นได้มีโอกาสฟังธรรมจากพระเถระอยู่บ่อย ๆ แล้วเกิดศรัทธา
แสดงตนเป็นอุบาสก ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึก และปวารณาตัวเป็นอุปัฏฐากของท่าน
ด้วย
  • อยู่ชนบทบวชพระยาก
    ต่อมาโสณกุฎิกัณณอุบาสก มีศรัทธาปรารถนาจะบวช แต่พระเถระได้แนะนำให้เขา
    ปฏิบัติตนบำเพ็ญกุศล ในเพศฆราวาสจะสะดวกกว่า เพราะชีวิตพระสงฆ์ต้องประพฤติ
    พรหมจรรย์นั้นเป็นเรื่องยากลำบาก แต่ โสณกุฎิกัณณะ ก็ยังยืนยันมั่นคงว่า ถึงจะลำบากอย่างไรก็
    ยินดีที่จะปฏิบัติกิจของพระสงฆ์ อย่างดีที่สุด เฝ้าอ้อนวอนพระเถระอยู่หลายครั้ง ในที่สุดพระ
    เถระก็ให้บวชเป็นสามเณร ไว้ก่อนเนื่องจากอวันตีทักขิณาปถชนบทนั้นหาภิกษุได้ยาก การบวช
    พระ จะต้องมีภิกษุร่วมประชุมสังฆกรรมให้การอุปสมบทอย่างน้อย ๑๐ รูป เรียกว่า ทสวรรค
    ท่านจึงเป็นสามเณรอยู่นานถึง ๓ ปี กว่าที่จะมีภิกษุครบจำนวนทำการอุปสมบทให้ท่านได้
  • เฝ้าพระผู้มีพระภาค
    เมื่อท่านได้อุปสมบทแล้ว ได้เรียนพระกรรมฐานจากพระอุปัชฌาย์ ปลีกตัวหาสถานที่
    สงบสงัด ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ สิ้นกิเลสาสวะทั้งปวงในพรรษา
    นั้น
    ครั้นออกพรรษาแล้ว ท่านมีความประสงค์จะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค เพราะท่านยังไม่เคย
    เห็นพระองค์เลย ท่านจึงกราบลาพระมหากัจจายนเถระ ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ พระเถระก็อนุญาต
    และได้ฝากความไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคเพื่อขอแก้ไขพระวินัยอันเป็นพุทธบัญญัติบาง
    ประการ ซึ่งไม่สะดวกแก่พระสงฆ์ผู้อยู่ในเมืองกุรุรฆระ แคว้นอวันตีชนบาท รวมทั้งหมด
    ๕ ประการ (เหมือนในประวัติพระมหากัจจายนเถระ ดังกล่าวแล้วข้างต้น)
  • ถวายพระธรรมเทศนา
    พระโสณกุฎิกัณณะ เดินทางมาถึงพระเชตะวันมหาวิหารแล้ว เข้าเฝ้ากราบถวายบังคม
    พระบรมศาสนาแล้ว นั่ง ณ ที่สมควรแก่ตนส่วนข้างหนึ่ง เมื่อพระพุทธองค์ทรงปฏิสันถารทัก
    ทายกับเธอโดยสมควรแล้ว เธอได้กราบทูลความตามที่พระอุปัชฌาย์สั่งมา เมื่อพระพุทธองค์ทรง
    สดับรับทราบความลำบากของหมู่ภิกษุสงฆ์ ในชนบทแล้ว พระองค์ทรงประทานอนุญาตตามที่
    ขอมานั้นทุกประการ
  • ได้รับยกย่องในทางผู้มีวาจาไพเราะ
    พระผู้มีพระภาค มีดำรัสสั่งให้พระอานนท์เถระจัดสถานที่ ให้ท่านพักค้างแรมใน
    พระคันธกุฎีร่วมกับพระองค์ ในเวลาใกล้รุ่งของราตรีนั้น พระบรมศาสดารับสั่งให้ท่านแสดง
    ธรรมให้พระองค์ได้สดับ พระโสณกุฎิกัณณเถระ จึงน้อมรับสนองพุทธดำรัสด้วยการแสดง
    พระสูตรอันแสดงถึงวัตถุ ๘ ประการด้วยเสียงอันไพเราะ เมื่อจบเทศนาพระสูตรนั้นแล้ว พระ
    พุทธองค์ตรัสอนุโมทนา สาธุการชมเชยในความสามารถของท่านและได้ทรงยกย่องท่านใน
    ตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทางผู้มีวาจาไพเราะ, ผู้แสดงธรรมด้วยถ้อยคำ
    ไพเราะ
    ท่านพระโสณกุฎิกัณณเถระ พักอาศัยอยู่ในสำนักของพระผู้มีพระภาค พอสมควรแก่
    เวลาแล้ว ได้กราบทูลลากลับมายังสำนักของพระมหากัจจายนเถระ ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ ใน
    อวันตีชนบท กราบเรียนรายงานผลการเข้าเฝ้าให้ได้รับทราบทุกประการ และท่านยังได้แสดง
    เทศนาที่แสดงถวายพระพุทธองค์ให้ โดยมีมารดาของท่านรับฟัง เป็นการเพิ่มพูนศรัทธาความเชื่อ
    และปสาทะความเลื่อมใสแก่โยมมารดาของท่านอีกด้วย
    ท่านพระโสณกุฎิกัณณเถระ ดำรงอายุสังขาร ช่วยกิจการพระศาสนาโดยสมควรแก่กาล
    เวลาแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน
84000.org...::

16-พระสีวลีเถระ เอตทัคคะในทางผู้มีลาภมาก



16-พระสีวลีเถระ
เอตทัคคะในทางผู้มีลาภมาก

พระสีวลี เป็นโอรสของพระนางสุปปวาสา ราชธิดาแห่งโกลิยนคร ตั้งแต่ท่านจุติลงถือ
ปฏิสนธิในครรภ์ของพระมารดา ได้ทำให้ลาภสักการะเกิดขึ้นแก่พระมารดาเป็นอันมาก ท่าน
อาศัยอยู่ในครรภ์ของพระมารดา นานถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ครั้นเมื่อใกล้เวลาจะประสูติ
พระมารดาได้รับทุกขเวทนาอย่างแรงกล้า พระนางจึงขอให้พระสวามีไปกราบบังคมทูลขอพร
จากพระบรมศาสดาและพระพุทธองค์ตรัสประทานพรแก่พระนางว่า:-
“ขอพระนางสุปปวาสา พระราชธิดาแห่งพระเจ้ากรุงโกลิยะ จงเป็นหญิงมีความสุข
ปราศจากโรคาพยาธิ ประสูติพระราชโอรสผู้หาโรคมิได้เถิด”
ด้วยอำนาจแห่งพระพุทธานุภาพ ทุกขเวทนาของพระนางก็อันตรธานไปพระนาง
ประสูติพระราชโอรสอย่างง่ายดาย ดุจน้ำไหลออกจากหม้อ พระประยูรญาติทั้งหลายได้ขนาน
พระนามพระราชโอรสของพระนางสุปปวาสาว่า “สีวลีกุมาร”
เมื่อพระนางมีพระวรกายแข็งแรงดีแล้ว มีพระประสงค์ที่จะถวายมหาทานติดต่อกันเป็น
เวลา ๗ วัน จึงจึงความประสงค์แก่พระสวามีให้กราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดาพร้อมด้วย
ภิกษุสงฆ์ มารับมหาทานอาหารบิณฑบาตในพระราชนิเวสน์ ตลอด ๗ วัน
ในวันถวายมหาทานนั้น สีวลีกุมาร มีพระวรกายเข้มแข็งดุจกุมารผู้มีพระชนม์ ๗
พรรษา ได้ช่วยพระบิดาและพระมารดาจัดแจงกิจต่าง ๆ มีการนำธมกรก (ธะมะกะหรก =
กระบอกกรองน้ำ) มากรองน้ำดื่มและอังคาสพระบรมศาสดาและหมู่พระภิกษุสงฆ์ ในขณะที่
สีวลีกุมาร ช่วยพระบิดาและพระมารดาอยู่นั้น ท่านพระสารีบุตรเถระได้สังเกตดูอยู่ตลอดเวลา
และเกิดความรู้สึกพอใจในพระราชกุมารน้อยเป็นอย่างมาก ครั้นถึงวันที่ ๗ ซึ่งเป็นวันสุดท้าย
พระเถระได้สนทนากับสีวลีกุมารแล้วชักชวนให้มาบวช สีวลีกุมาร ผู้มีจิตน้อมไปในการบวชอยู่
แล้ว เมื่อพระเถระชักชวน จึงกราบทูลขออนุญาตจากพระบิดาและพระมารดา เมื่อได้รับอนุญาต
แล้วจึงติดตามพระเถระไปยังพระอาราม
พระสารีบุตรเถระ ผู้รับภาระเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้สอนพระกรรมฐานเบื้องต้น คือ
ตจปัญจกกรรมฐานทั้ง ๕ ได้แก่ เกสา(ผม) โลมา(ขน) นขา(เล็บ) ทันตา(ฟัน) ตโจ (หนัง) ให้
พิจารณาของทั้ง ๕ เหล่านี้ว่าเป็นของไม่งานเป็นของสกปรก ไม่ควรเข้าไปยึดติดหลงใหลในสิ่ง
เหล่านี้ สีวลีกุมาร ได้สดับพระกรรมฐานนั้นแล้วนำไปพิจารณาในขณะที่กำลังจรดมีดโกนเพื่อ
โกนผม ครั้งแรกนั้นท่านได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน จรดมีดโกนลงครั้งที่ ๒ ท่านได้บรรลุเป็น
พระสกทาคามี จรดมีดโกนลงครั้งที่ ๓ ท่านได้บรรลุเป็นพระอนาคามี และเมื่อโกนผมเสร็จ
ท่านได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
เมื่อท่านอุปสมบทแล้วปรากฏว่าท่านเป็นพุทธสาวกที่มีลาภสักการะมากมาย ด้วยอำนาจ
บุญบารมีของท่านที่สั่งสมมา ลาภสักการะเหล่านี้ได้เผื่อแผ่ไปยังพระสงฆ์สาวกท่านอื่น ๆ ด้วย
แม้พระบรมศาสดาเมื่อทรงพาหมู่ภิกษุสงฆ์เสด็จทางไกลกันดาร ถ้ามี พระสีวลี ร่วมเดินทางไป
ด้วย ความขาดแคลนอาหารและที่พักอาศัยในระหว่างทางก็จะไม่เกิดขึ้นแก่หมู่ภิกษุสงฆ์เลย
เช่น....
  • พระพุทธองค์และหมู่ภิกษุอาศัยบุญพระสีวลี
    สมัยหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จำนวน ๕๐๐ รูปไปเยี่ยมพระเรวตะ
    ผู้เป็นน้องชายของพระสารีบุตรเถระ ซึ่งจำพรรษาอยู่ ณ ป่าไม้ตะเคียน เมื่อเสด็จมาถึงทาง ๒
    แพร่ง พระอานนท์เถระได้กราบทูลสภาพหนทางว่า.....
    “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าเสด็จไปทางอ้อม ระยะทางไกล ๖๐ โยชน์ มีประชาชนอยู่
    อาศัยมาก พระภิกษุไม่ลบากด้วยภิกขาจาร แต่ถ้าเสด็จไปทางลัดระยะทางประมาณ ๓๐ โยชน์
    ไม่มีประชาชนอยู่อาศัย มีสภาพเป็นป่าใหญ่ มีแต่อมนุษย์อยู่อาศัย พระภิกษุสงฆ์จะลำบากด้วย
    ภิกขาจาร”
    พระพุทธองค์ ตรัสถามว่า:-
    “ดูก่อนอานนท์ พระสีวลีมากับเราด้วยหรือไม่?”
    “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเสวลีมากับเราด้วย พระเจ้าข้า”
    พระพุทธองค์ ตรัสว่า:-
    “ดูก่อนอานนท์ ถ้าอย่างนั้นก็จงไปทางลัด ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องกังวลด้วยอาหาร
    บิณฑบาต เพราะเทวดาทั้งหลายที่สิงสถิตอยู่ในป่าระหว่างทาง จะจัดสถานที่พักและอาหาร
    บิณฑบาตไว้ถวายพระสีวลีผู้เป็นที่เคารพนับถือของพวกตน เราทั้งหลายก็จะได้อาศัยบุญของ
    พระสีวลี นั้นด้วย”
  • ได้รับยกย่องในทางผู้มีลาภมาก
    ด้วยอำนาจบุญที่ท่านพระสีวลี ได้บำเพ็ญสั่งสมอบรมมาตั้งแต่อดีตชาติ เป็นปัจจัยส่งผล
    ให้ท่านเจริญด้วยลาภสักการะ โดยมีเทพยาดา นาค ครุฑ และมนุษย์ทั้งหลาย นำมาถวายโดยมิ
    ขาดตกบกพร่อง ไม่ว่าท่านจะอยู่ในที่ใด ๆ ในป่า ในบ้าน ในน้ำ หรือบนบก เป็นต้น
    ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์ จึงทรงประกาศให้ปรากฏในหมู่พุทธบริษัทตรัสยกย่องท่านใน
    ตำแหน่ง เอคทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทาง ผู้มีลาภมาก
    นับว่าท่านพระสีวลีเถระเป็นพระมหาสาวกอีกรูปหนึ่งที่ได้ช่วยกิจการ พระศาสนา แบ่ง
    เบาภาระของพระบรมศาสดาเป็นอย่างมาก ท่านดำรงอายุสังขารโดยสมควรแก่กาลเวลาแล้วก็
    ดับขันธปรินิพพาน
84000.org...::

วันศุกร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2562

14-พระปิ่นโฑลภารทวาชเถระ เอตทัคคะในทางผู้บันลือสีหนาท



14-พระปิ่นโฑลภารทวาชเถระ
เอตทัคคะในทางผู้บันลือสีหนาท

พระปิณโฑลภารทวาชะ เป็นบุตรของพราหมณ์มหาศาล ตระกูลภารทวาชะ ผู้เป็น
ปุโรหิตของพระเจ้าอุเทน เดิมชื่อว่า “ภารทวาชมาณพ” ศึกษาจบไตรเพท คือ คัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์
ของลัทธิพราหมณ์ มีความเชี่ยวชาญในวิชา ไตรเพท
  • โทษของการไม่รู้ประมาณในอาหาร
    ภารทวาชมาณพ ได้ตั้งสำนักเป็นอาจารย์ใหญ่สอนไตรเพท มีศิษย์มาขอศึกษามากมาย
    แต่เนื่องจากเป็นคนมีความโลภในอาหาร แสวงหาอาหารด้วยอาการอันไม่เหมาะสม ไม่รู้
    ประมาณในการบริโภค จึงถูกศิษย์พากันทอดทิ้ง มีความเป็นอยู่ลำบาก ต่อมาได้ย้ายถิ่นฐานไป
    อยู่ที่เมืองราชคฤห์ ตั้งสำนักสั่งสอนไตรเพทอีก แต่ก็ไม่ค่อยมีคนนับถือเพราะเป็นคนต่างถิ่น
    และเมืองราชคฤห์ก็มีสำนักอาจารย์ใหญ่ ๆ มากอยู่แล้ว จึงประสบกับชีวิตที่ฝืดเคืองยิ่งขึ้น
    เมื่อพระบรมศาสดา ประกาศพระพุทธศาสนามาจนถึงเมืองราชคฤห์ มีประชาชนเคารพ
    นับถือเป็นจำนวนมาก ลาภสักการะก็เกิดขึ้นอุดมสมบูรณ์ ปิณโฑลภารทวาชะ คิดที่จะอาศัยพระ
    พุทธศาสนาเลี้ยงชีวิต อีกทั้งได้มีโอกาสฟังพระธรรมเทศนาจากพระบรมศาสดาแล้ว ก็เกิด
    ศรัทธาเลื่อมใส จึงกราบทูลขอบรรพชาอุปสมบท เมื่อได้บวชเป็นพระภิกษุในพระธรรมวินัย แล้ว
    อุตสาห์บำเพ็ญเพียรเจริญวิปัสสนากรรมฐานไม่ช้าก็บรรลุพระอรหัตผลเป็นพระอเสขบุคคลใน
    พระพุทธศาสนา
    ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะเถระ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอินทรีย์ทั้ง ๓ คือ สตินทรีย์
    สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ และยังเป็นผู้ที่สามารถแสดงฤทธิ์ได้เทียบเท่าพระมหาโมคคัลลานเถระ
    ท่านเคยแสดงฤทธิ์จนเป็นสาเหตุให้พระบรมศาสดาแสดงยมกปาฏิหาริย์ ดังมีเรื่องเล่าว่า....
  • เศรษฐีอยากรู้จักพระอรหันต์
    สมัยหนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ที่พระเวฬุวัน มหาวิหาร กรุงราชคฤห์ มี
    เศรษฐีผู้หนึ่งใคร่จะลงเล่นน้ำในแม่น้ำคงคา จึงให้บริวารขึงตาข่ายเป็นรั้วล้อมในท่าที่ตนอาบน้ำ
    อยู่นั้น เพื่อป้องกันอันตรายจากสัตว์น้ำต่าง ๆ ขณะนั้นมีไม้จันทน์แดงต้นหนึ่งเกิดที่ริมฝั่งเหนือ
    น้ำขึ้นไป ถูกน้ำเซาะรากโค่นลงไหลมาตามน้ำถูกกระแสน้ำพัดกระทบกับของแข็งหักเป็นท่อน
    เล็กท่อนใหญ่กระจัดกระจายไปตามน้ำ มีอยู่ก้อนหนึ่งเป็นปุ่มซึ่งแตกออกมา กลิ้งกระทบหินและ
    กรวดทรายกลายเป็นก้อนกลมอย่างดี และมีตะใคร่น้ำเกาะอยู่โดยรอบไหลมาติดที่ตาข่ายนั้น
    เศรษฐีให้คนตรวจดูรู้ว่าเป็นไม้จันทน์แดงแล้วคิดว่า “ไม้จันทน์แดง ในบ้านของเรามีอยู่
    มากมาย เราควรจะทำอะไรดีกับไม้จันทน์แดงก้อนนี้” พลางก็คิดขึ้นได้ว่า “ชนเป็นจำนวนมาก
    ต่างก็พูดอวดว่าตนเป็นพระอรหันต์ เรายังไม่รู้ชัดว่าผู้ใดเป็นพระอรหันต์กันแน่ เราควรให้ช่าง
    กลึงปุ่มไม้จันทน์แดงนี้ ทำเป็นบาตรแล้วแขวนไว้ที่ปลายไม้ผ่าต่อกันให้สูง ๑๕ วา ประกาศว่า
    ผู้ใดสามารถเหาะมาเอาบาตรไปได้ จึงจะเชื่อถือผู้นั้นว่าเป็นพระอรหันต์ เราพร้อมด้วยภรรยา
    และบุตรจะขอถึงผู้นั้นเป็นสรณะที่พึ่งตลอดชีวิต” เมื่อคิดเช่นนั้นแล้วก็สั่งให้ทำตามที่คิดนั้นทุก
    ประการ
  • เดียรถีย์แสดงท่าเหาะ
    ครั้งนั้น เจ้าสำนักครูทั้ง ๖ คือ ปูรณกัสสป มักขลิโคสาล อชิตเกสกัมพล
    สัญชัยเวลัฎฐบุตร ปกุทธกัจจายนะ และ นิครนถ์นาฎบุตร ต่างก็มีความประสงค์อยากจะได้
    บาตรไม้จันทน์แดงด้วยกันทั้งนั้น จึงได้ไปพูดกับท่านเศรษฐีว่า:-
    “ท่านเศรษฐี บาตรนี้สมควรแก่เรา ท่านจงยกให้แก่เราเถิด”
    “ถ้าท่านต้องการอยากจะได้ ก็จงเหาะขึ้นไปเอาด้วยตนเอง” เศรษฐีกล่าวยืนยัน
    ครั้นถึงวันที่ ๖ นิครนถ์นาฎบุตร ได้ใช้ให้ศิษย์ไปบอกแก่เศรษฐีว่า:-
    “บาตรนี้ สมควรแก่อาจารย์ของเรา ท่านอย่าให้ถึงกับต้องแสดงฤทธิ์เหาะมาเพราะเหตุ
    เพียงบาตรใบเดียว ซึ่งเป็นวัตถุเล็กน้อยนี้เลย จงมอบให้แก่อาจารย์ของเราเถิด”
    ท่านเศรษฐี ก็ยังคงยืนยันเหมือนเดิม นิครนถ์นาฏบุตรจึงวางแผนกับลูกศิษย์ว่า
    “เมื่อเราทำท่ายกมือ ยกเท้า แสดงอาการจะเหาะขึ้นไปเอาบาตร พวกเจ้าจงเข้ายึดมือและเท้า
    ของเราไว้แล้วกล่าวห้ามว่า ไฉนท่านอาจารย์จึงทำอย่างนี้ท่านอย่าได้แสดงคุณความเป็นพระ
    อรหันต์ที่ปกปิดไว้เพราะเหตุเพียงบาตรใบนี้เลย” เมื่อตกลงวางแผนกันเรียบร้อยแล้ว จึงเข้าไป
    พูดขอบาตรกับเศรษฐี เมื่อได้รับคำปฏิเสธเช่นเดิม จึงแสดงท่าจะเหาะขึ้นไปเอาบาตร บรรดาศิษย์
    ทั้งหลายก็พากันเข้าห้ามฉุดรั้งไว้แล้ว กล่าวตามที่ตกลงกันไว้นั้น นิครนถ์นาฏบุตรจึงพูดกับ
    เศรษฐีว่า “เราจะเหาะขึ้นไปเอาบาตร แต่บรรดาศิษย์ทั้งหลายพากันห้ามฉุดรั้งไว้อย่างที่เห็นนี้
    ดังนั้น ขอท่านจงให้บาตรแก่เราเถิด” เศรษฐีก็ยังไม่ยอมให้เช่นเดิม

    พระปิณโฑลภารทวาชะเหาะขึ้นไปเอาบาตร
    ในวันที่ ๗ เวลาเช้า พระมหาโมคคัลลานเถระ กับพระปิณโฑลภารทวาชเถระ จะเข้าไป
    บิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ยืนห่มจีวรอยู่บนก้อนหินใหญ่ก้อนหนึ่ง ได้ยินเสียงนักเลงทั้งหลาย
    พูดกันว่า “ครูทั้ง ๖ ต่างกล่าวอวดอ้างว่าตนเป็นพระอรหันต์ จนถึง ๗ วันเข้าวันนี้แล้ว ก็ไม่เห็น
    มีใครสักคนเดียวเหาะขึ้นไปเอาบาตรที่ท่านเศรษฐีแขวนไว้ พวกเราก็เพิ่งจะรู้กันในวันนี้เองว่า
    พระอรหันต์ไม่มีในโลก”
    พระมหาโมคคัลลานเถระ จึงกล่าวว่า “ท่านภารทวาชะ ท่านได้ยินหรือไม่ถ้อยคำของ
    นักเลงเหล่านั้นพูดหมิ่นประมาทพระพุทธศาสนา ท่านก็มีฤทธิ์อานุภาพมาก จงเหาะไปเอาบาตร
    ใบนั้นมาให้ได้”
พระผู้เป็นเจ้าภารทวาชะ รับคำของพระมหาโมคคัลลานเถระแล้วเข้าจตุถฌานสมาบัติ
อันเป็นฐานแห่งอภิญญา กระทำอิทธิฤทธิ์เหาะขึ้นไปบนอากาศพร้อมทั้งแผ่นศิลาที่ยืนอยู่นั้น
เหาะเวียนรองกรุงราชคฤห์แล้ว เหาะลอยเลื่อนมาอยู่ตรงหลังคาเรือนของเศรษฐี ท่านเศรษฐีเห็น
ดังนั้นแล้วทั้งดีใจที่ได้เห็นพระอรหันต์ที่แท้จริง และตกใจกลัวว่าก้อนหินจะล่วงลงมาทับบ้าน
ของตน จึงกราบหมอบลงจนอกติดพื้นดินแล้ว กล่าวละล่ำละลักว่า “ขอพระผู้เป็นเจ้า ลงมา
เถิด” พระเถระจึงสลัดก้อนหินไปประดิษฐานในที่เดิมแล้วเหาะลงมาจากอากาศ เมื่อพระเถระ
ลงมาแล้ว ท่านเศรษฐีจึงนิมนต์ให้นั่ง ณ อาสนะที่จัดถวาย ให้คนนำบาตรลงมาจากที่แขวนไว้
บรรจุอาหารอันประณีตจนเต็มแล้วถวายพระเถระพระผู้เป็นเจ้าภารทวาชะ รับแล้วก็กลับสู่วิหาร
ฝ่ายประชาชนเป็นจำนวนมากที่ไปทำธุระนอกบ้านมิได้เห็นปาฏิหาริย์จึงพากันชุมนุมติด
ตามพระเถระไปอ้อนวอนนิมนต์ให้ท่านแสดงปาฏิหาริย์ให้ชมบ้าง พระเถระก็แสดงให้ชมตามที่
นิมนต์นั้น พระบรมศาสดาทรงสดับเสียงอื้ออึง จึงตรัสถามพระอานนท์ว่า
“นั่นเสียงอะไร ?” เมื่อทรงทราบความทั้งหมดแล้ว มีรับสั่งให้พระภารทวาชเถระเข้าเฝ้า
ทรงตำหนิการกระทำนั้นแล้วมีพระบัญชาให้ทำลายบาตรนั้น บดให้เป็นผงทำเป็นเภสัชสำหรับ
หยอดตา จากนั้นทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามพระสาวกทั้งหลายทำปาฏิหาริยิ์อีกต่อไป
  • ได้ยกย่องในทางบันลือสีหนาท
    โดยปกติ ท่านปิณโฑลภารทวาชเถระ มักจะบันลือสีหนาทด้วยวาจาอันองอาจว่า
    “ยสฺส มคฺเค วา ผเล วา กงฺขา อตฺถิ โส มํ ปุจฺฉตุ แปลว่า ผู้ใด มีความสงสัยในมรรคหรือใน
    ผล ผู้นั้น ก็จงถามเราเถิด” แม้แต่ในที่เฉพาะพระพักตร์พระบรมศาสดา ท่านก็บันลือสีหนาท
    เช่นนั้น
    ด้วยเหตุนี้ พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายพากันกล่าวขวัญถึงท่านว่าเป็นผู้มีความองอาจประกาศ
    ความเป็นพระอรหันต์ของตนในที่เฉพาะพระพักตร์ พระบรมศาสดาและยังได้กระทำ
    อิทธิปาฏิหาริยิ์ เหาะขึ้นไปเอาบาตรไม้จันทน์แดง จนทำให้เศรษฐีพร้อมด้วยบุตรและภรรยาพา
    กันประกาศตนเป็นพุทธมามกะ คือ ประกาศตนเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา
    พระภิกษุสงฆ์เหล่านั้นพากันกล่าวสรรเสริญเกียรติคุณของพระปิณโฑลภารทวาชเถระ
    แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า พระพุทธองค์ทรงถือเอาคุณความดีของพระเถระนี้ตรัส
    สรรเสริญว่า
    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านภารทวาชะได้ประกาศความเป็นพระอรหันต์ ของตนเช่นนั้น
    ก็พราะท่านอบรมอินทรีย์ ๓ ประการ คือ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ และปัญญินทรีย์ ไว้มาก ครั้น
    ตรัสดังนี้แล้ว ทรงประกาศยกย่อง พระปิณโฑลภารทวาชะ ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่า
    ภิกษุทั้งหลายในฝ่าย ผู้บันลือสีหนาท
    ท่านพระปิณโฑลภารทวาชเถระ ดำรงอายุสังขารโดยสมควรแก่กาลเวลาแล้ว ก็ดับ
    ขันธปรินิพพาน
84000.org...::

15-พระมหากัจจายนเถระ เอตทัคคะในทางผู้อธิบายความย่อให้พิสดาร


15-พระมหากัจจายนเถระ
เอตทัคคะในทางผู้อธิบายความย่อให้พิสดาร

พระมหากัจจายนะ เป็นบุตรของพราหมณ์ตระกูลกัจจายนะ ผู้เป็นปุโรหิต (ที่ปรึกษา)
ของพระเจ้าจัณฑปัชโชต ในกรุงอุชเชนี เดิมท่านชื่อว่า “กัญจนะ” เพราะมีรูปร่างลักษณะงาม
สง่า มีเสน่ห์แก่ผู้พบเห็น เมื่อเจริญวัยขึ้น ได้เรียนจบไตรเพท คือ คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนา
พราหมณ์ เมื่อบิดาถึงแก่กรรมแล้วได้ดำรงตำแหน่งปุโรหิตแทนบิดา
เมื่อพระบรมศาสดาตรัสรู้แล้ว เสด็จเที่ยวจาริกประกาศหลักธรรมคำสอนตามคามนิคม
ชนบทอยู่นั้น พระเจ้าจัณฑปัชโชต มีพระราชประสงค์จะกราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จสู่
กรุงอุชเชนีของพระองค์บ้าง จึงรับสั่งให้ปุโรหิจกัจจายนะไปกราบทูลอาราธนา กัจจายนะถือ
โอกาสกราบทูลลาเพื่ออุปสมบทด้วย เมื่อทรงอนุญาตแล้วจึงพร้อมด้วยบริวารติดตามอีก ๗ คน
เดินทางไปเฝ้าพระบรมศาสดา เมื่อเดินทางไปถึงก็รับเข้าเฝ้า พระพุทธองค์ตรัสพระธรรมเทศนา
ให้ ฟังและเท่านทั้ง ๘ คนนั้น ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แล้วกราบทูลขออุปสมบท พระพุทธ
องค์ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปนา เมื่อได้อุปสมบทแล้ว ได้กราบทูล
อาราธนาพระบรมศาสดาเสด็จสู่กรุงอุชเชนี ตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้เดินทางมา แต่พระ
บรมศาสดารับสั่งให้ท่านไปเองพระเจ้าจัณฑปัชโชต และชาวเมืองก็จะเกิดศรัทธาเหมือนกัน
พระมหากัจจายนะ จึงกราบทูลลาพระบรมศาสดาพาภิกษุบริวารอีก ๗ องค์นั้น เดินทาง
กลับสู่กรุงอุชเชนี ประกาศหลักธรรมคำสอนในพุทธศาสนาให้พระเจ้าจัณฑปัชโชต และชาว
เมืองได้สดับรับฟัง เกิดศรัทธาเลื่อมใส ทำให้พระพุทธศาสนาแพร่กระจายทั่วกรุงอุชเชนีแล้ว
ท่านก็ได้เดินทางกลับมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคอีก
  • กราบทูลขอพระบรมพุทธนุญาตแก้ไขพุทธบัตติ
    เสมือนหนึ่ง ท่านพระมหากัจจายนะ พักอาศัยอยู่ที่ภูเขาปวัตตะ แขวงเมืองกุรุรฆระ
    ในอวันตีทักขิณาปถชนบท ขณะนั้น มีอุบาสกคนหนึ่งชื่อว่า โสณกุฎิกัณณะ มีศรัทธาจะ
    อุปสมบท แต่เนื่องจากในอวันตีชนบทนั้นมีพระภิกษุจำนวนน้อย ไม่ครบเป็นคณปูรกะจำนวน
    ๑๐ รูป (ทสวรรค) ตามพระบรมพุทธานุญาต ท่านจึงให้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่นานถึง ๓ ปี
    กว่าจะได้อุปสมบท และเมื่อท่านโสณกุฏิกัณณะได้อุปสมบทแล้ว ปรารถนาจะเข้าเฝ้า
    พระบรมศาสดา ได้กราบลาพระมหากัจจายนะ ก็อนุญาตพร้อมทั้งสั่งให้ไปราบทูลขอ
    พระบรมพุทธานุญาต ให้พระพุทธองค์ทรงแก้ไขพุทธบัญญัติ ๕ ข้อ ซึ่งไม่สะดวกแก่พระภิกษุผู้
    อยู่ในอวันตีชนบท คือ:-
    ๑) ในอวันตีชนบท มีพระภิกษุจำนวนน้อย ขอให้พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตการอุปสมบท
    ด้วยคณะพระภิกษุน้อยกว่า ๑๐ รูปได้
    ข้อนี้ พระพุทธองค์ทรงอนุญาตว่า “ดูก่อนภิกษุ เราอนุญาตการอุปสมบทในปัจจันตชนบท
    ด้วยคณะพระภิกษุ ๕ รูปได้”
    ๒) ในอวันตีชนบท มีพื้นดินขรุขระไม่เรียบไม่สม่ำเสมอ ขอให้พระผู้มีอาภาคทรงอนุญาตให้
    พระภิกษุในอวันตีชนบทสวมรองเท้ามีพื้นหลายชั้นได้
    ข้อนี้ ทรงอนุญาตว่า “ดูก่อนภิกษุ เราอนุญาตให้ภิกษุสวมรองเท้ามีพื้นหลายชั้น ใน ปัจ
    จันตชนบทได้”
    ๓) ในอวันตีชนบท อากาศร้อน บุคคลต้องอาบน้ำทุกวัน ขอพระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้
    ภิกษุอาบน้ำเป็นนิตย์ได้
    ข้อนี้ ทรงอนุญาตว่า “ดูก่อนภิกษุ เราอนุญาตการอาบน้ำได้เป็นนิตย์แก่ภิกษุผู้อยู่ใน ปัจ
    จันตชนบท”
๔) ในอวันตีชนบท มีเครื่องลาดที่ทำด้วยหนังมีหนังแพะ และหนังแกะ เป็นต้น สมบูรณ์ดี
เหมือนในมัชฌิมชนบท ขอพระพุทธองค์ทรงอนุญาตเครื่องลาดทำด้วยหนังสัตว์ มีหนังแพะ
และหนังแกะ เป็นต้นเหล่านั้นเถิด
ข้อนี้ ทรงอนุญาตว่า “ดูก่อนภิกษุ เราอนุญาตเครื่องลาดที่ทำด้วยหนังสัตว์เหล่านั้น”
๕) ทายกทั้งหลาย มักจะถวายจีวรแก่ภิกษุผู้ที่ออกจากวัดไปแล้ว ด้วยสั่งไว้ว่า “ข้าพเจ้าทั้ง
หลาย ขอถวายจีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้” เมื่อเธอกลับมาแล้ว ทายกได้นำจีวรเข้าไปถวาย แต่เธอไม่
ยอมรับด้วยเข้าใจว่า ผ้าผืนนี้เป็นนิสสัคคีย์
ข้อนี้ ทรงอนุญาตว่า “ดูก่อนภิกษุ เราอนุญาตให้ภิกษุรับจีวรที่ทายกถวายลับหลังได้ ด้วย
ว่า ผ้ายังไม่ถึงมือเธอตราบใด จะถือว่าเธอมีสิทธิ์ในผ้าผืนนั้นเต็มที่ไม่ได้ตราบนั้น”
  • ความสามารถพิเศษของพระมหากัจจายนเถระ
    พระมหากัจจายนเถระ เป็นพระพุทธสาวก ที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดสามารถอธิบาย
    ธรรมที่ย่อให้พิสดาร ให้ผู้ฟังเกิดศรัทธาเลื่อมใสได้โดยไม่ยาก ทั้งนี้เพราะส่วนหนึ่งท่านเป็นผู้มี
    ความเชี่ยวชาญในปฏิสัมภิทา ๔ คือ:-
    ๑) อัตถปฏิสัมภิทา ผู้มีปัญญาแตกฉานในอรรถ
    สามารถอธิบายความย่อให้พิสดารได้
    ๒) ธัมาปฏิสัมภิทา ผู้มีปัญญาแตกฉานในธรรม
    สามารถถือเอาความโดยย่อจากธรรมที่พิสดารได้
    ๓) นิรุตติปฏสัมภิทา ผู้มีปัญญาแตกฉานในนิรุตติ
    มีความเชี่ยวชาญในภาษา สามารถพูดให้คนอื่น
    เลื่อมใสได้
    ๔) ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ผู้มีปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ
    มีไหวพริบและปฏิภาณ สามารถแก้ไขสถานการณ์
    เฉพาะหน้าได้
    นอกจากนี้ยังมีพระธรรมเทศนาของท่านอีกหลายกัณฑ์ ที่พระธรรมสังคาหกาจารย์ ได้
    ยกขึ้นสู่สังคีติ คือการทำสังคายนา ได้แก่:-
    ๑ ภัทเทกรัตตสูตร เป็นสูตรที่แสดงถึงเรื่องบุคคลผู้มีราตรีเดียวเจริญ คือ คนที่เวลา
    วันคืนหนึ่ง ๆ มีแต่ความดีงาม ความเจริญก้าวหน้า ได้แก่ ผู้ที่ไม่มัวครุ่นคิดถึงอดีต ไม่เพ้อฝัน
    หวังอนาคต ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นแจ้งประจักษ์สิ่งที่เป็นปัจจุบัน ทำความดีเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย
    ไป มีความเพียรพยายามทำกิจที่ควรทำตั้งแต่ในวันนี้
    ๒ มธุรสูตร เป็นสูตรที่ท่านแสดงแก่พระเจ้ามธุรราชอวันตีบุตร ในขณะที่ท่านพักอยู่ที่
    คุณธาวัน มธุรราชธานี สูตรนี้มีใจความแสดงถึงความไม่แตกต่างกันของวรรณะ ๔ คือ กษัตริย์
    พราหมณ์ แพศย์ และศูทร วรรณะทั้ง ๔ นี้ แม้จะถือตัวอย่าง เหยียดหยามกันอย่างไร แต่ถ้าทำดี
    ก็ไปสู่ที่ดีเหมือนกันทั้งหมด ถ้าทำชั่วก็ต้องรับโทษไปอบายเหมือนกันทั้งหมดทุกวรรณะเสมอกัน
    ในพระธรรมวินัย ออกบวชบำเพ็ญสมณธรรมแล้ว ไม่เรียกว่าวรรณะอะไร แต่เป็นสมณะ
    เหมือนกันทั้งหมด
    ที่พระเถระกล่าวสูตรนี้ ก็เพราะพระเจ้ามธุรราชอวันตีบุตร ถามปัญหากับท่านเกี่ยวกับ
    เรื่องพราหมณ์ถือตัวว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และเกิดจากพรหม ท่านจึงแก้ว่าไม่เป็นความจริงแล้วยกตัว
    อย่างเป็นข้อ ๆ ดังนี้:-
    ๑) ในวรรณะ ๔ เหล่านี้ วรรณะใดเป็นผู้ร่ำรวย มั่งมีเงินทอง วรรณะเดียวกัน และ
    วรรณะอื่นย่อมเข้าไปหา ยอมเป็นบริวารของวรรณะนั้น
    ๒) วรรณะใดประพฤติอกุศลกรรมบถ เมื่อตายไป วรรณะนั้นย่อมเข้าสู่อบายเสมอ
    เหมือนกันทั้งหมด
    ๓) วรรณะใดประพฤติกุศลกรรมบถ เมื่อตายไป วรรณะนั้นย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
    เหมือนกันทั้งหมด
    ๔) วรรณะใดทำโจรกรรม ทำปรทาริกกรรม วรรณะนั้นต้องรับราชอาญาเหมือนกันทั้ง
    หมด ไม่มียกเว้น
    ๕) วรรณะใดออกบวช ตั้งอยู่ในศีลในธรรม วรรณะนั้นย่อมได้รับความนับถือ การ
    บำรุง และการคุ้มครองรักษา เสมอเหมือนกันทั้งหมด
    เมื่อพระเถระแสดงเทศนามธุรสูตรจบลงแล้ว พระเจ้ามธุรราช ก็เกิดศรัทธาเลื่อมใส
    ประกาศประองค์เป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนา
  • พระเถระแปลงร่าง
    ดังที่กล่าวมาในตอนต้นแล้วว่าพระมหากัจจายนเถระ เป็นผู้มีรูปร่างสง่างามผิวเหลือง
    ดุจทองคำสะอาดผ่องใจ เป็นที่ต้องตาถูกใจแก่ผู้พบเห็นทั่วไป จนกระทั่งมีเหตุการณ์วิปริตเกิดขึ้น
    แก่บุตรเศรษฐีคนหนึ่งในเมืองโสเรยยะ ชื่อว่า โสเรยยะ เหมือนชื่อเมือง ขณะที่เขานั่งบนยาน
    พาหนะกับสหายเพื่อไปอาบน้ำพร้อมกับบริวารทั้งหลาย ได้เห็นพระเถระกำลังยืนห่มจีวร เพื่อ
    เข้าไปบิณฑบาตในเมืองแล้วเกิดความพอใจ ในดวงจิตคิดอกุศลขึ้นว่า “งามจริงหนอ พระเถระ
    รูปนี้ น่าจะเป็นภริยาของเรา หรือไม่ก็ขอให้ภริยาของเรามีสีผิวกายเหมือนพระเถระนี้”
    ด้วยอกุศลจิตคิดเพียงเท่านี้ ทำให้เพศชายของเขาหายไป กลายเป็นเพศหญิงไปทั้งร่าง
    ทำให้เขาอับอายเป็นอย่างมาก และโดยที่ไม่มีใครรู้เขารีบลงจากยานนั้นแล้วเดินตามกองเกวียน
    พ่อค้าไปยังเมืองตักสิลา และได้เป็นภริยาของลูกชายเศรษฐีในเมืองนั้น อยู่ร่วมกันจนมีบุตร ๒
    คน แต่เดิมทีที่เขาอยู่ในเมือง โสเรยยะนั้น เขาก็มีภริยาอยู่แล้วและมีบุตรด้วยกัน ๒ คน เช่นเดียว
    กัน จึงปรากฏว่าเขาเป็นทั้งพ่อและแม่ หรือเป็นทั้งผัวและเมียในชาติเดียวกันนี้
    ต่อมา พระมหากัจจายนเถระ จาริกมายังเมืองตักสิลา โสเรยยะทราบแล้วจึงเล่าเรื่องราว
    ของตนที่ผ่านมาให้สามีฟัง แล้วพากันไปกราบขอขมาโทษต่อพระเถระ เมื่อท่านทราบเรื่องโดย
    ตลอดแล้วก็ยกโทษให้ และเพศหญิงก็หายไปเพศชายปรากฏขึ้นมาเหมือนเดิม เขาเกิดศรัทธา
    เลื่อมใสในพระเถระเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งเห็นว่าตนเองเป็นคนแปลกคือเป็นทั้งชายและหญิงในอัต
    ภาพเดียวเท่านั้น และยังคิดว่าไม่ควรที่จะอยู่ครองเพศฆราวาสต่อไป จึงมอบบุตรทั้ง ๔ คนให้
    บิดามารดาเลี้ยงดูต่อไป ส่วนตนเองได้ขอบวชในสำนักพระเถระ และได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
    ในกาลต่อมา
    พระมหากัจจายนะ นอกจากจะมีเรื่องของโสเรยยะแล้ว ยังมีเรื่องพระภิกษุเทวดาและ
    มนุษย์ทั้งหลาย เห็นพระเถระเดินมาแต่ไกลแล้วก็พากันกล่าวว่า “พระบรมศาสดาของพวกเรา
    เสด็จมาแล้ว” แล้วพากันทำความเคารพกราบไหว้ ทั้งนี้ก็เพราะท่านมีรูปลักษณ์ละม้ายกับ
    พระผู้มีพระภาคนั้นเอง
    พระเถระพิจารณาเห็นโทษเช่นนี้แล้ว จึงอธิษฐานจิตเนรมิตรร่างกายของท่านให้เปลี่ยน
    แปลงผิดแปลกไปจากเดิม ร่างกายที่เคยสง่างามก็ย่นย่อ ต่ำเตี้ย ท้องป่อง หมดความสวยงามดังที่
    พุทธศาสนิกชนนิยมสร้างรูปท่านไว้เป็นที่สักการบูชาในทุกวันนี้
  • ได้รับยกย่องในทางอธิบายความย่อให้พิศดาร
    ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงแสดงภัทเทกรัตตสูตรแต่โดยย่อ แล้วเสด็จเข้าสู่พระวิหาร
    ที่ประทับ พระภิกษุทั้งหลายไม่ได้โอกาสเพื่อจะกราบทูลถามเนื้อความที่ตรัสไว้โดยย่อให้เข้าใจ
    ได้ จึงพากันเข้าไปหาพระมหากัจจายนะ กราบอาราธนาให้ท่านได้เมตตาอธิบายขยายความให้
    ฟัง
    พระเถระได้อธิบายขยายความย่อให้ฟังอย่างพิสดาร แล้วกล่าวแนะนำว่า “ท่านผู้มีอายุ
    ข้าพเจ้าเข้าใจความหมายแห่งพระสูตรนี้ตามที่อธิบายมานี้ แต่ถ้าท่านทั้งหลายมีความต้องการจะ
    ทราบให้แน่ชัดก็จงไปกราบทูลถามพระผู้มีพระภาค เมื่อพระองค์ทรงแก้อย่างไร ก็จงจำไว้อย่าง
    นั้นเถิด”
    พระภิกษุเหล่านั้นพากันลาพระเถระแล้ว เข้าไปกราบทูลเนื้อความที่พระมหากัจจายนะ
    อธิบายไว้ให้พระพุทธองค์ทรงสดับ
    พระผู้มีพระภาค ตรัสสรรเสริญพระเถระว่า “ภิกษุทั้งหลาย พระมหากัจจายนะ เป็นผู้มี
    ปัญญา เนื้อความนั้นถ้าพวกเธอถามตถาคต แม้ตถาคตก็จะอธิบายอย่างนั้น เช่นกัน ขอพวกเธอ
    จงจำเนื้อความนั้นไว้เถิด”
เมื่อครั้งพระพุทธองค์ ประทับอยู่ ณ พระเชตะวันมหาวิหาร ทรงตั้งพระมหากัจจายนะ
ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในฝ่าย ผู้อธิบายเนื้อความย่อให้พิสดาร
ท่านพระมหากัจจายนเถระ ดำรงอายุสังขารโดยสมควรแก่กาลเวลาแล้วก็ดับ
ขันธปรินิพพาน
84000.org...::

13-พระโมฆราชเถระ เอตทัคคะในทางผู้ยินดีในจีวรเศร้าหมอง



13-พระโมฆราชเถระ
เอตทัคคะในทางผู้ยินดีในจีวรเศร้าหมอง

พระโมฆราช เกิดในตระกูลพราหรมณ์ ชาวเมืองสาวัตถี เมื่อมีอายุพอสมควรแก่การ
ศึกษาศิลปะวิทยาตามประเพณีพราหมณ์ จึงได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็น
ปุโรหิตที่ปรึกษาของพระเจ้าปเสนทิโกศล
ต่อมา พราหมณ์พาวรี เบื่อหน่ายชีวิตการครองเรือน จึงได้กราบทูลลา
พระเจ้าปเสนทิโกศล ออกบวชเป็นชฎิล บำเพ็ญพรตตามประเพณีพราหมณ์ ตั้งสำนักอยู่ที่ริมฝั่ง
แม่น้ำโคธาวารี ระหว่างเมืองอัสสกะและเมืองอาฬกะ ตัวเองเป็นเจ้าสำนักและเป็นอาจารย์ใหญ่
ทำหน้าที่ทั้งรับและอบรมสั่งสอนไตรเพทแก่ศิษย์ทั่วไป โมฆราชมาณพ พร้อมกับเพื่อศิษย์อีก
หลายคนได้ออกบวชติดตามด้วยพราหมณ์พาวรี แม้จะบวชเป็นฤาษีชฎิลเช่นเดียวกับตระกูล
กัสสปะ ๓ พี่น้อง แต่คนทั่วไปก็นิยมเรียก “พราหมณ์พาวรี” อยู่เช่นเดิม ไม่นิยมเรียกว่า
“ชฎิล” เหมือนตระกูลกัสสปะ
  • ทรงสอบการตรัสรู้
    เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนศากยราชา ผู้ครองนคร
    กบิลพัสดุ์ เสด็จออกบรรพชาได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้วเที่ยวสั่งสอนเวไนยสัตว์
    ให้เกิดศรัทธาเลื่อมใสออกบวชประพฤติพรหมจรรย์ ติดตามพระองค์มากมาย พราหมณ์พาวรี
    ได้ทราบข่าวเป็นลำดับ แต่ก็ยังเคลือบแคลงใจในการตรัสรู้ขององค์พระสัพพัญญโคดมเจ้า จึงตั้ง
    ปัญหาขึ้น ๑๖ หมวด แล้วมอบให้ศิษย์ ๑๖ คน นำไปกราบทูลถามพระบรมศาสดา ซึ่งขณะนั้น
    ประทับอยู่ที่ปาสาณเจดีย์ แคว้นมคธ และโมฆราชมาณพก็เป็นหนึ่งในจำนวนศิษย์เหล่านั้น
    อชิตมาณพ ผู้เป็นหัวหน้าได้พาคณะศิษย์อีก ๑๕ คน คือ
    ๑. ติสสเมตเตยยะ ๒. ปุณณกะ ๓. เมตตคู ๔. โธตกะ ๕. อุปสีวะ ๖. นันทกะ
    ๗. เหมกะ ๘. โตเทยยะ ๙. กัปปะ ๑๐. ชตุกัณณี ๑๑. ภัทราวุธะ ๑๒. อุทยะ
    ๑๓. โปสาละ ๑๔. ปิงคิยะ และ ๑๕. โมฆราช รวมทั้งสิ้นจำนวน ๑๖ คน พากันไปเข้าเฝ้า
    พระบรมศาสดาเพื่อทูลถามปัญหา ณ ปาสาณเจดีย์แห่งหนึ่ง
  • กราบทูลถามปัญหาเป็นคนที่ ๑๕
    ในบรรดามาณพทั้ง ๑๖ คนนั้น โมฆราชมาณพ นับว่าเป็นผู้มีปัญญาดีกว่ามาณพทั้ง
    หมด จึงคิดที่จะทูลถามปัญหาเป็นคนแรก แต่เห็นว่าอชิตมาณพอยู่ในฐานะเป็นหัวหน้าผู้นำมา
    จึงเปิดโอกาสให้ถามเป็นคนแรก เมื่ออชิตะ ทูลถามจบแล้ว โมฆราชมาณพ ปรารถนาจะถาม
    เป็นคนที่ ๒ แต่พระพุทธองค์ตรัสห้ามว่า “ดูก่อนโมฆราช ท่านจงรอให้มาณพคนอื่น ๆ ถาม
    ก่อนเถิด”
    เมื่อมาณพคนอื่น ๆ ถามไปโดยลำดับถึงคนที่ ๘ โมฆราชมาณพ ก็แสดงความประสงค์
    จะทูลถามเป็นคนที่ ๙ พระพุทธองค์ก็ตรัสห้ามไว้อีกครั้ง จนถึงลำดับคนที่ ๑๔ ผ่านไปแล้ว
    โมฆราชมาณพ จึงได้มีโอกาสทูลถามเป็นคนที่ ๑๕ โดยกราบทูลถามว่า:-
    “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โลกนี้ก็ดี โลกอื่นก็ดี พรหมโลกกับทั้งเทวโลกก็ดี ย่อมไม่
    ทราบความเห็นของพระองค์ เหตุดังนั้น จึงมีปัญหามาถึงพระองค์ ผู้มีปรีชาญาณเห็นล่วงสามัญ
    ชนทั้งปวงอย่างนี้ ข้าพระพุทธเจ้า จะพิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราชคือความตายจึงจะไม่แล
    เห็น คือ จักไม่ตามทัน พระเจ้าข้า”
    (ใจความของปัญหาข้อนี้ ก็คือจะพิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราชคือความตายจึงจะ
    แลไม่เห็น คือตามไม่ทัน)
    พระบรมศาสดา ตรัสพยากรณ์ว่า:-
    “ดูก่อนโมฆราช ท่านจงมีสติพิจารณาดูโลกโดยความเป็นของว่างเปล่า ถอนความเห็น
    ว่าตัวของเราเสียทุกเมื่อเถิด ท่านจะข้ามล่วงมัจจุราชเสียได้ด้วยอุบายนี้ท่านพิจารณาเห็นโลก
    อย่างนี้แล้ว มัจจุราชคือความตายจักแลไม่เห็น”
    เมื่อพระบรมศาสดา ตรัสพยากรณ์ปัญหาของโมฆราชมาณพ จบลงแล้วโมฆราชมาณพ
    พร้อมด้วยชฎิลทั้งหมด ได้บรรลุพระอรหัตผลสิ้นอาสวกิเลสทุกคนเว้นแต่ปิดคิยมาณพผู้เดียว
    เพราะมัวแต่คิดถึงอาจารย์พราหมณ์พาวรีผู้เป็นลุง จึงได้เพียงญาณหยั่งเห็นในธรรมเท่านั้น
    มาณพทั้ง ๑๖ คน กราบทูลขออุปสมบท พระพุทธองค์ประทานด้วยวิธีเอหิภิกขุ
    อุปสัมปทา ได้เป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา พร้อมบาตรและจีวรอันสำเร็จด้วยบุญฤทธิ์
    ส่วนพระปิงคิยเถระกราบทูลลากลับไปแจ้งข่าวแก่พราหมณ์พาวรี แสดงธรรมตามที่พระพุทธ
    องค์ทรงแก้ปัญหาทั้ง ๑๖ ข้อ ให้ฟังแล้วยังพราหมณ์พาวรี ให้บรรลุธรรมาพิสมัยชั้น
    เสขภูมิ
    พระโมฆราชนั้น เมื่ออุปสมบทแล้วปรากฏว่าท่านเป็นผู้มักน้อยสันโดษยินดีเฉพาะการ
    ใช้สอยจีวรที่เศร้าหมอง ๓ ประการ คือ ๑. ผ้าเศร้าหมอง ๒. ด้ายเย็บผ้าเศร้าหมอง ๓. น้ำย้อมผ้า
    เศร้าหมองด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุ
    ทั้งหลายในทาง ผู้ยินดีในจีวรเศร้าหมอง
    ท่านโมฆราชเถระ ดำรงอายุสังขารโดยสมควรแก่กาลเวลาแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน
84000.org...::

12-พระอานนท์เถระ เอตทัคคะในทางผู้เป็นพหูสูตร



12-พระอานนท์เถระ
เอตทัคคะในทางผู้เป็นพหูสูตร


พระอานนท์ เป็นพระราชโอรสของพระสุกโกทนะ ผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุท
โธทนะ พระมารดานามว่า พระนางกีสาโคตมี มีศักดิ์เป็นพระอนุชาของพระบรมศาสดา
(พระราชโอรสของพระเจ้าอา) ออกบวชพร้อมกับเจ้าชายอนุรุทธะและอุบาลี (ศึกษาประวัติเบื้อง
ต้นในประวัติของพระอนุรุทธเถระ) เมื่อท่านบวชแล้ว ได้ฟังโอวาทจากพระปุณณมันตานี ได้
บรรลุเป็นพระโสดาบัน
  • ได้รับเลือกเป็นพุทธอุปัฎฐาก
    ในช่วงปฐมโพธิกาลหลังจากตรัสรู้แล้ว ๒๐ พรรษานั้น ยังไม่มีพระภิกษุใดปฏิบัติรับใช้
    พระพุทธองค์เป็นประจำ มีแต่พระภิกษุผลัดเปลี่ยนวาระกันปฏิบัติ เช่น พระนาคสมาละ พระนา
    คิตะ พระอุปวาณะ พระสาคตะ และพระเมฆิยะ เป็นต้น บางคราวการผลัดเปลี่ยนบกพร่อง
    องค์ที่ปฏิบัติอยู่ออกไป แต่องค์ใหม่ยังไม่มาแทน ทำให้พระพุทธองค์ต้องประทับอยู่ตามลำพัง
    ขาดผู้ปฏิบัติ บางครั้งพระภิกษุผู้ปฏิบัติ ก็ดื้อดึงขัดรับสั่งของพระพุทธองค์ เช่น
    ครั้งหนึ่ง เป็นวาระของพระนาคสมาลเถระ ท่านได้ตามเสด็จพระพุทธองค์ไปทางไกล
    พอถึงทาง ๒ แพร่ง พระเถระทราบทูลว่า
    “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์เสด็จไปทางนี้เถิด พระเจ้าข้า”
    “อย่าเลย นาคสมาละ ไปอีกทางหนึ่งจะดีกว่า”
    พระนาคสมาละ ไม่ยอมเชื่อฟังพระดำรัส ขอแยกทางกับพระพุทธองค์ ทำท่าจะวาง
    บาตรและจีวรของพระผู้มีพระภาคที่พื้นดิน พระพุทธองค์จึงตรัสว่า
    “นาคสมาละ เธอจงส่งบาตรและจีวรมาให้ตถาคตเถิด”
    พระนาคสมาละ ถวายบาตรและจีวรแด่พระพุทธองค์แล้วแยกทางเดินไปตามที่ตน
    ต้องการ ไปได้ไม่ไกลนักก็ถูกพวกโจรทำร้ายจนศีรษะแตกแล้วแย่งชิงเอาบาตรและจีวรไป ทั้งที่
    เลือดอาบหน้ารีบกลับมาเฝ้าพระบรมศาสดา กราบทูลเล่าเรื่องให้ทรงทราบ พระพุทธองค์จึงตรัส
    ว่า
    “อย่าเสียใจไปเลย นาคสมาละ ตถาคตห้ามเธอก็เพราะเหตุนี้”
    พระพุทธองค์ ได้รับความลำบากพระวรกายเพราะถูกปล่อยให้ประทับอยู่ตามลำพัง
    หลายครั้ง จึงมีพระดำรัสรับสั่งให้ภิกษุสงฆ์เลือกสรรภิกษุทำหน้าที่ปฏิบัติพระองค์เป็นประจำ
    ภิกษุทั้งหลายมีฉันทามติมอบหมายให้พระอานนท์เถระรับหน้าที่เป็นพุทธอุปัฏฐากตลอดกาลเป็น
    นิตย์ ด้วยเห็นว่าท่านเป็นผู้มีสติปัญญา ขยัน อดทน รอบคอบ และเป็นพระญาติใกล้ชิด ย่อม
    จะทราบพระอัธยาศัยเป็นอย่างดี
  • พระเถระทูลขอพร ๘ ประการ
    แต่ก่อนที่พระเถระจะตอบรับทำหน้าที่เป็นพุทธอุปัฏฐากนั้น ท่านได้กราบทูลขอพร ๘
    ประการ ดังนี้:-
    ๑ ขออย่าประทานจีวรอันประณีตแก่ข้าพระองค์
    ๒ ขออย่าประทานบิณฑบาตอันประณีตแก่ข้าพระองค์
    ๓ ขอได้โปรดอย่าให้ข้าพระองค์อยู่ในที่ประทับของพระองค์
    ๔ ขอได้โปรดอย่าพาข้าพระองค์ไปในที่นิมนต์
    ๕ ขอพระองค์จงเสด็จไปสู่ที่นิมนต์ ที่ข้าพระองค์รับไว้
    ๖ ขอให้ข้าพระองค์พาบริษัทที่มาจากแดนไกลเข้าเฝ้าพระองค์ได้ในขณะที่มาถึงแล้ว
    ๗ ถ้าข้าพระองค์เกิดความสงสัยขึ้นเมื่อใดขอให้ข้าพระองค์เข้าเฝ้าทูลถามความสงสัยได้เมื่อนั้น
    ๘ ถ้าพระองค์แสดงพระธรรมเทศนาเรื่องใด ในที่ลับหลังข้าพระองค์ขอได้โปรดตรัสพระ
    ธรรมเทศนาเรื่องนั้น แก่ข้าพระองค์อีกครั้ง
  • พระพุทธองค์ตรัสถามคุณและโทษของพร ๘ ประการ
    พระบรมศาสดา ได้สดับคำกราบทูลขอพรของพระอานนท์เถระแล้ว ได้ตรัสถามถึงคุณ
    และโทษของพร ๘ ประการว่า:-
    “ดูก่อนอานนท์ เธอเห็นคุณและโทษอย่างไร จึงขออย่างนั้น ?”
    “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ถ้าข้าพระองค์ไม่ได้รับพรข้อที่ ๑-๔ ข้างต้น ก็จะมีคนพูดติฉิน
    นินทา ได้ว่า พระอานนท์ ปฏิบัติบำรุงอุปัฏฐากพระบรมศาสดา จึงได้ลาภสักการะมากมายอย่าง
    นี้ การปฏิบัติอุปัฏฐากมิได้หนักหนาอะไรเลย
    และถ้าข้าพระองค์ไม่ได้รับพรข้อที่ ๕-๗ ก็จะมีคนพูดได้อีกว่าพระอานนท์ จะบำรุง
    อุปัฏฐากพระบรมศาสดาไปทำไม แม้กิจเพียงเท่านี้ พระพุทธองค์ก็ไม่ทรงอนุเคราะห์
    อนึ่ง โดยเฉพาะถ้าข้าพระองค์ไม่ได้รับพรข้อสุดท้ายแล้ว หากมีผู้มาถามข้าพระองค์ว่า
    ธรรมข้อนี้พระพุทธองค์ทรงแสดงที่ไหน ถ้าข้าพระองค์ไม่ทราบ เขาก็จะตำหนิได้ว่า
    พระอานนท์ ติดตามพระบรมศาสดาไปทุกหนแห่ง ดุจเงาตามพระองค์ แต่เหตุไฉนจึงไม่รู้แม้แต่
    เรื่องเพียงเท่านี้
    “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เห็นคุณและโทษ ดังกล่าวมานี้ จึงได้กราบทูลขอพร
    ทั้ง ๘ ประการนั้น พระเจ้าข้า”
    พระบรมศาสดา เมื่อได้สดับคำชี้แจงของพระอานนท์แล้ว จึงประทานสาธุการ และ
    พระราชทานอนุญาตให้ตามที่ขอทุกประการ ตั้งแต่นั้นมา ท่านพระเถระก็ปฏิบัติหน้าที่บำรุง
    อุปัฏฐากพระพุทธองค์ตลอดมา ตราบเท่าถึงเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน
  • ยอมสละชีวิตแทนพระพุทธองค์
    พระเถระ ได้ปฏิบัติหน้าที่อุปัฏฐากพระบรมศาสดาด้วยความอุตสาหะมิได้บกพร่อง อีก
    ทั้งมีความจงรักภักดีเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่ชีวิตของตนก็ยอมสละแทนพระพุทธองค์ได้ เช่น ในคราว
    ที่พระเทวทัตยุยงให้พระเจ้าอชาตศัตรูปล่อยช้างนาฬาคีรี ด้วยหวังจะให้ทำอันตรายพระพุทธองค์
    ขณะเสด็จออกบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ในขณะที่ช้างนาฬาคีรีวิ่งตรงเข้าหาพระพุทธองค์นั้น
    พระอานนท์เถระผู้เปี่ยมล้นด้วยความกตัญญูและความจงรักภักดี ได้ยอมมอบกายถวายชีวิตเป็น
    พุทธบูชา ได้ออกไปยืนขวางหน้าช้างไว้ หวังจะให้ทำอันตรายตนแทน แต่พระพุทธองค์ได้ทรง
    แผ่พระเมตตาไปยังช้างนาฬาคีรี ด้วยอำนาจแห่งพระเมตตาบารมี ทำให้ช้างสร่างเมาหมดพยศ
    ลดความดุร้ายยอมหมอบถวายบังคมพระบรมศาสดาแล้วลุกขึ้นเดินกลับเข้าสู่โรงช้าง ด้วยอาการ
    อันสงบ
  • ได้รับยกย่องหลายตำแหน่ง
    พระอานนท์เถระ ได้ปฏิบัติพระพุทธองค์อย่างใกล้ชิด มิได้ประมาทพลาดพลั้ง ได้ฟัง
    พระธรรมเทศนาทั้งที่ทรงแสดงแก่ตนและผู้อื่น ทั้งที่แสดงต่อหน้าและลับหลัง อีกทั้งท่านเป็นผู้
    มีสติปัญญาทรงจำไว้ได้มาก จึงเป็นผู้ฉลาดในการแสดงธรรม พระบรมศาสดาทรงยกย่องท่าน
    ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งปวง ถึง ๕ ประการ คือ เป็นพหูสูต เป็นผู้มีสติ เป็นผู้
    มีคติ เป็นผู้มีความเพียร และเป็นพุทธอุปัฏฐาก
  • ปฐมสังคายนารับหน้าที่สำคัญ
    ในกาลที่พระพุทธองค์ใกล้ปรินิพพาน พระอานนท์เถระมีความน้อยเนื้อต่ำใจที่ตนยัง เป็นพระโสดาบันอยู่ อีกทั้งพระบรมศาสดาบรมครูก็จะเสด็จเข้าสู่พระปรินิพพานในอีกไม่ช้า จึงหลีก
    ออกไปยืนร้องไห้แต่เพียงผู้เดียวข้างนอก พระพุทธองค์รับสั่งให้ภิกษุไปเรียกเธอมาแล้ว ตรัส
    เตือนให้เธอคลายทุกข์โทมนัสพร้อมทั้งตรัสพยากรณ์ว่า....
    “อานนท์ เธอจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ในวันทำปฐมสังคายนา”
    เมื่อพระบรมศาสดาปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปเถระได้นัดประชุมพระอรหันต์
    ขีณาสพ จำนวน ๕๐๐ องค์ เพื่อทำปฐมสังคายนา โดยมอบให้พระอานนท์รับหน้าที่วิสัชนาพระ
    สูตรและพระอภิธรรม แต่เนื่องจากพระอานนท์ยังเป็นพระโสดาบันอยู่ ท่านจึงเร่งทำความเพียรอย่าง
    หนักแต่ก็ยังไม่สำเร็จจนเกิดความอ่อนเพลีย ท่านจึงปรารภที่จะพักผ่อนอิริยาบถสักครู่ จึงเอน
    กายลงบนเตียง ในขณะที่เท้าพ้นจากพื้น ศีรษะกำลังจะถึงหมอน ท่านก็สำเร็จเป็นพะอรหันต์
    ในระหว่างอิริยาบถทั้ง ๔ คือ ไม่ได้อยู่ในอิริยาบถอย่างใดอย่างหนึ่งทั้ง ๔ อย่าง คือ อิริยาบถยืน
    เดิน นั่ง หรือนอน นับว่าท่านบรรลุเป็นพระอรหันต์แปลกกว่าพระเถระรูปอื่น ๆ
  • ปรินิพพานกลางอากาศ
    พระอานนท์เถระ ดำรงอายุสังขารอยู่นานถึง ๑๒๐ ปี พิจารณาเห็นว่าสมควรที่จะ
    ปรินิพพานได้แล้ว ท่านจึงเชิญญาติทั้งฝ่ายศากยะและฝ่ายโกลิยะ ไปที่ริมฝั่งแม่น้ำโรหิณี ซึ่งกั้น
    เขตแดนระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ และกรุงเทวทหะ ก่อนที่จะปรินิพพาน ท่านเหาะขึ้นไปบนอากาศ
    ได้แสดงธรรมสั่งสอนเทวดาและพระประยูรญาติทั้งสองฝ่าย ตลอดทั้งพุทธบริษัทอื่น ๆ เมื่อจบ
    พระธรรมเทศนาแล้วท่านได้ตั้งสัตยาธิษฐานว่า....
    “เมื่ออาตมานิพพานแล้ว ขอให้อัฐิธาตุของอาตมานี้จงแยกออกเป็น ๒ ส่วน จงตกลงที่
    ฝั่งกรุงกบิลพัสดุ์ ของพระประยูรญาติฝ่ายศากยวงศ์ ส่วนหนึ่ง และจงตกที่ฝังกรุงเทวทหะของ
    พระประยูรญาติฝ่ายโกลิยวงศ์ส่วนหนึ่ง เพื่อป้องกันมิให้พระประยูรญาติทั้งสองฝ่ายทะเลาะ
    วิวาทกันเพราะแย่งอัฐิธาตุ”
    ครั้นอธิษฐานเสร็จแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ณ เบื้องบนอากาศ ในท่ามกลางแม่น้ำ
    โรหิณี นั้น เตโชธาตุก็เกิดขึ้น เผาสรีระของท่านเหลือแต่กระดูกและแยกออกเป็น ๒ ส่วน แล้ว
    ตกลงบนพื้นดินของ ๒ ฝั่งแม่น้ำโรหิณีนั้นสมดังที่ท่านอธิษฐานไว้ทุกประการ
    ท่านได้ชื่อว่าเป็นพุทธสาวกที่ได้บรรลุกิเลสนิพพาน และขันธนิพพานแปลกกว่าพระ
    สาวกรูปอื่น ๆ
84000.org...::

วันเสาร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2562

11-พระอนุรุทธเถระ เอตทัคคะในทางผู้มีทิพยจักษุญาณ

11-พระอนุรุทธเถระ
เอตทัคคะในทางผู้มีทิพยจักษุญาณ

พระอนุรุทธะ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าอมิโตทนะ ผู้เป็นพระเจ้าอาของพระบรม
ศาสดา มีพระเชษฐา (พี่ชาย) พระนามว่า เจ้าชายมหานามะ มีพระกนิษฐภคินี (น้องสาว) พระ
นามว่า พระนางโรหิณี รวมเป็น ๓ พระองค์ด้วยกัน เมื่อพระบรมศาสดาตรัสรู้แล้วเสร็จมาโปรด
พระประยูรญาติศากยวงศ์ ณ กรุงกบิลพัสดุ์ ได้มีศากยกุมารผู้มีชื่อเสียงออกบวชติดตามพระบรม
ศาสดาหลายพระองค์
  • พี่ชายชวนบวช
    ครั้นเมื่อพระพุทธองค์ เสด็จจาริกไปสู่มหาชนบท ประทับอยู่ที่อนุปิยอัมพวัน แขวง
    เมืองพาราณสี ครั้งนั้น เข้าศากยพระนามว่าเจ้าชายมหานามะ ผู้เป็นพระเชษฐา ได้ปรึกษากับเจ้า
    ชายอนุรุทธะพระอนุชาว่า:-
    “ในตระกูลของเรานี้ ยังไม่มีผู้ใดออกบวชตามเสด็จพระบรมศาสดาเลย เราสองคนพี่
    น้องนี้ ควรที่คนใดคนหนึ่งน่าจะออกบวช น้องจะบวชเองหรือจะให้พี่บวช ขอให้น้องเป็นผู้เลือก
    ตามความสมัครใจ ถ้าไม่มีใครบวชเลย ก็ดูเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง”
    เนื่องจากอนุรุทธกุมารนั้น เป็นพระโอรสองค์เล็ก พระเจ้าอมิโตทนะ พระบิดาและพระ
    มารดามีความรักทะนุถนอมเป็นอย่างมาก เป็นกษัตริย์สุขุมมาลชาติ มีบุญมาก หมู่พระประยูร
    ญาติทั้งหลายต่างก็โปรดปรานเอาอกเอาใจตั้งแต่แรกประสูติจนเจริญวัยสู่วัยหนุ่ม เมื่อได้ฟังเจ้าพี่
    มหานามะตรัสถึงเรื่องการบรรพชาอย่างนั้น จึงกราบทูลถามว่า
    “เสด็จพี่ ที่เรียกว่าบรรพชานั้น คืออะไร”
    “ที่เรียกบรรพชาก็คือการปลงพระเกศาและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสต์ บรรทมเหนือ
    พื้นดิน และบิณฑบาตเลี้ยงชีพตามกิจของสมณะ”
    “เสด็จพี่ หม่อมฉันไม่เคยทุกข์ยากลำบากอย่างนั้น ขอให้เสร็จพี่บวชเองเถิด”
    “อนุรุทธะ ถ้าอย่างนั้น เจ้าก็ต้องศึกษาเรื่องการงาน และการครองเรือนให้เข้าใจเป็น
    อย่างดี”
  • ไม่รู้จักคำว่า “ไม่มี”
    แท้ที่จริง เจ้าชายอนุรุทธะ ได้รับการเอาอกเอาใจจากพระประยูรญาติดังกล่าว จน
    กระทั่งไม่ทราบเรื่องการงาน และการดำเนินชีวิตของฆราวาสเลย ยิ่งไปกว่านั้นแม้แต่คำว่า “ไม่
    มี” ก็ไม่เคยได้ยินนับตั้งแต่ประสูติมา ดังมีเรื่องเล่าว่า.....
    ครั้งหนึ่ง เจ้าชายอนุรุทธะ พร้อมด้วยพระสหายชวนกันไปเล่นตีคลี โดยมีการตกลงกัน
    ว่า “ถ้าใครเล่นแพ้ต้องนำขนมมาเลี้ยงเพื่อน” ในการเล่นนั้นเจ้าชายอนุรุทธะ แพ้ถึง ๓ ครั้ง ใน
    แต่ละครั้งให้คนรับใช้ไปนำขนมจากเสด็จแม่มาเลี้ยงเพื่อนตามที่ตกลงกัน ในครั้งที่ ๔
    เจ้าชายอนุรุทธะ ก็เล่นแพ้อีก และก็ใช้ให้คนไปนำขนมมาจากพระมารดาอีก พระมารดาตรัสสั่ง
    คนรับใช้มาบอกว่า “ขนมไม่มี” เจ้าชายอนุรุทธะ ไม่รู้ความหมายของคำว่า “ไม่มี” เข้าใจไปว่า
    คำนั้นเป็นชื่อของขนมชนิดหนึ่ง จึงส่งคนรับใช้ให้ไปกราบทูลแก่เสด็จแม่ว่า “ขนมไม่มีก็เอามา
    เถอะ”
    พระมารดา เข้าพระทัยทันทีว่า พระโอรสของพระองค์นั้นไม่เคยได้ยินค่ำว่า “ไม่มี” ดัง
    นั้น จึงดำริที่จะให้โอรสของตนทราบความหมายของคำว่า “ไม่มี” นั้นว่าเป็นอย่างไร จึงนำถาด
    เปล่ามาทำความสะอาดแล้วปิดฝาด้วยถาดอีกใบหนึ่ง ส่งให้คนรับใช้นำไปให้พระโอรส ใน
    ระหว่างทางที่คนรับใช้ถือถาดเปล่าเดินไปนั้น เทวดาที่สิงสถิตอยู่ที่ซุ้มประตูคิดว่า
    “เจ้าชายอนุรุทธะ นี้ ได้สร้างบุญบารมีมาแต่ชาติปางก่อน ครั้งที่เกิดเป็นอันนภารบุรุษ ได้ถวาย
    อาหารที่ตนกำลังจะบริโภคแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าพระนามว่าอริฏฐะ แล้วได้ตั้งความปรารถนา
    ว่า “ถ้าได้เกิดใหม่ ขออย่าให้ได้ยินคำว่า “ไม่มี” กับทั้งสถานที่เกิดของอาหาร ก็ขออย่าได้พานพบ
    เลย” ดังนั้น ถ้าเจ้าชายอนุรุทธะได้รู้จักคำว่า ไม่มี แล้วเราต้องถูกเทพยาดาผู้มีอำนาจเหนือกว่าลง
    โทษแน่” จึงเนรมิตขนมทิพย์จนเต็มถาด เจ้าอนุรุทธะและพระสหายได้เสวยขนมทิพย์มีรสโอชา
    ยิ่งนัก ซึ่งพวกไม่เคยได้เสวยมาก่อน จึงกลับไปต่อว่าพระมารดาว่า:-
    “ข้าแต่เสด็จแม่ ทำไมเสด็จแม่เพิ่งจะมารักลูกวันนี้เอง วันอื่น ๆ ไม่เห็นเสด็จแม่ทำขนม
    ไม่มีให้ลูกเสวยเลย ตั้งแต่นี้ไป ลูกขอเสวยแต่ขนมไม่มีเพียงอย่างเดียว ขนมชนิดอื่นไม่ต้องทำให้
    อีก”
    นับแต่บัดนั้นเมื่อเจ้าชายอนุรุทธะ ขอเสวยขนม พระมารดาก็จะนำถาดมาทำความ
    สะอาดแล้วปิดฝาด้วยถาดอีกใบหนึ่งส่งไปให้ทุกครั้ง ด้วยเหตุนี้ เมื่อเจ้าพี่มหานามะ บอกให้ศึกษา
    เรื่องการงานการครองเรือน เจ้าชายอนุรุทธะ จึงทูลถามเจ้าพี่ว่า:-
    “การงานที่ว่านั้น คืออะไร ?"
  • เรียนเรื่องการทำนา
    เจ้าชายมหานามะ ได้สดับคำถามของพระอนุชาดังนั้น จึงได้ยกเอาเรื่องการทำนาขึ้นมา
    สอน เริ่มด้วยการไถ การหว่าน การดูแลรักษา ตลอดจนการเก็บเกี่ยว การนวด และการนำเข้า
    เก็บในยุ้งฉาง อย่างนี้แหละ เรียกว่า “การงาน”
    “เสด็จพี่ การงานนี้จะสิ้นสุดเมื่อไร ?”
    “ไม่มีวันสิ้นสุด เมื่อถึงฤดูกาลก็ต้องทำอย่างนี้ตลอดไป วนเวียนหาที่สุดมิได้
    เจ้าชายอนุรุทธะ นั้นจะรู้เรื่องการทำนาได้อย่างไร ในเมื่อครั้งหนึ่งเคยนั่งสนทนากับพระ
    สหายและตั้งปัญหาถามกันว่า:-
    “ภัตตาหารที่เราเสวยกันทุกวันนี้ เกิดที่ไหน ?”
    “เกิดในฉาง” เจ้าชายกิมพิละตอบ เพราะเคยเห็นคนนำข้าวออกจากฉาง
    “เกิดในหม้อ” เจ้าชายภัททิยะตอบ เพราะเคยเห็นคดข้าวออกจากหม้อ
    “เกิดในชาม” เจ้าชายอนุรุทธะตอบ เพราะทุกครั้งจะเสวยภัตตาหาร ก็จะเห็นข้าวอยู่ใน
    ชามเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงเข้าใจอย่างนั้น
เมื่อใดฟังเจ้าพี่มหานามะ สอนถึงเรื่องการงาน ดังนี้แล้ว จึงเกิดการท้อแท้ขึ้นมา และ
การงานนั้นก็ไม่มีที่สิ้นสุด จึงกราบทูลเจ้าพี่มหานามะว่า “ถ้าเช่นนั้นขอให้เสด็จพี่อยู่ครองเรือน
เถิด หม่อมฉันจักบวชเอง ถึงแม้การบวชจะลำบากกว่าการเป็นอยู่ในฆราวาสนี้ ก็ยังมีภาระที่
น้อยกว่า และมีวันสิ้นสุด”
  • ตายดีกว่าถ้าไม่ได้บวช
    เมื่อตกลงกันเช่นนี้แล้ว เจ้าชายอนุรุทธะจึงเข้าไปเฝ้าพระมารดา กราบทูลให้ทรงทราบ
    เรื่องที่ตกลงกับเจ้าพี่มหามานะ แล้ว กราบทูลขอลาบวชตามเสด็จพระบรมศาสดา พระมารดาได้
    ฟังก็ตกพระทัยตรัสห้ามไว้ถึง ๓ ครั้ง แต่พระโอรสก็ยืนยันจะบวชให้ได้ ถ้าไม่ทรงอนุญาต
    ก็จะขออดอาหารจนตาย และก็เริ่มไม่เสวยอาหารตั้งแต่บัดนั้น ในที่สุดพระมารดาเห็นว่าการ
    บวชยังมีโอกาสได้เห็นโอรสดีกว่าปล่อยให้ตาย อนึ่ง อนุรุทธะนั้น เมื่อบวชแล้วได้รับความ
    ลำบากก็คงอยู่ได้ไม่นานก็จะสึกออกมาเอง
    พระมารดาจึงตกลงอนุญาตให้บวช แต่มีข้อแม้ว่า ถ้าเจ้าชายภัททิยะพระสหายออกบวช
    ด้วยจึงจะให้บวช เจ้าชายอนุรุทธะดีใจรีบไปชวนเจ้าชายภัททิยะให้บวชด้วยกันโดยกล่าวว่า
    “การบวชของเราเนื่องด้วยท่าน ถ้าท่านบวชเราจึงจะได้บวช” อ้อนวอนอยู่ถึง ๗ วัน
    เจ้าชายภัททิยะจึงยอมบวชด้วย
    ในครั้งนั้น เจ้าชายศากยะ ๕ พระองค์ เจ้าชายภัททิยะ เจ้าชายอนุรุทธะ เจ้าชายอานนท์
    เจ้าชายภัคคุ และ เจ้าชายกิมพิละ และเจ้าชายฝ่ายโกลิยะ ๑ พระองค์ คือ เจ้าชายเทวทัต พร้อม
    ด้วยอำมาตย์ช่างกัลบกอีก ๑ คน ชื่อ อุบาลี รวมเป็น ๗ เสด็จออกเดินทางไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่
    อนุปิยอัมพวัน เมืองพาราณสี ในระหว่างทางเจ้าชายทั้ง ๖ ได้เปลื้องเครื่องประดับอันมีค่าส่ง
    มอบให้อุบาลีช่างกัลบกที่ติดตามไปด้วย พร้อมทั้งตรัสสั่งว่า:-
    “ท่านจงนำเครื่องประดับเหล่านี้ไปจำหน่ายขายเลี้ยงชีพเถิด”
อุบาลี รับเครื่องประดับเหล่านั้นแล้วแยกทางกลับสู่พระนครกบิลพัสดุ์ พลางคิดขึ้นมา
ว่า “ธรรมดาเจ้าศากยะทั้งหลายนั้นดุร้ายนักถ้าเห็นเรานำเครื่องประดับกลับไปก็จะพากันเข้าใจว่า
เราทำอันตรายพระราชกุมารแล้ว นำเครื่องประดับมาก็จะลงอาญาเราจนถึงชีวิต อนึ่งเล่า เจ้าชาย
ศากยกุมารเหล่านี้ ยังละเสียซึ่งสมบัติอันมีค่าออกบวชโดยมิมีเยื่อใย ตัวเรามีอะไรนักหนาจึงจะ
มารับเอาสิ่งของที่เขาทิ้งดุจก้อนเขฬะนำไปดำรงชีพได้”
เมื่อคิดดังนั้นแล้ว จึงแก้ห่อนำเครื่องประดับทั้งหลายเหล่านั้นแขวนไว้กับต้นไม้แล้ว
กล่าวว่า “ผู้ใดปรารถนาก็จงถือเอาตามความประสงค์เถิด เราอนุญาตให้แล้ว” จากนั้นก็ออกเดิน
ทางติดตามเจ้าชายทั้ง ๖ พระองค์ ไปทันที่อนุปิยอัมพวัน กราบทูลแจ้งความประสงค์ขอบวชด้วย
  • ให้อุบาลีกัลบกบวชก่อน
    เจ้าชายอนุรุทธะ เมื่อทราบความประสงค์ของอุบาลีเช่นนั้น จึงกราบทูลพระบรมศาสดา
    ว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์เป็นกษัตริย์ มีขัตติยมานะแรงกล้า ขอพระองค์ประทาน
    การบรรพชาแก่อุบาลี ผู้เป็นอำมาตย์รับใช้ปวงข้าพระองค์ก่อนเถิด เพื่อข้าพระองค์ทั้งหลายจะ
    ได้แสดงคารวะกราบไหว้ อุบาลี ตามประเพณีนิยมของพระพุทธสาวก จะได้ปลดเปลื้อง
    ขัตติยมานะให้หมดสิ้นไปจากสันดาน”
    พระพุทธองค์ตรัสอนุโมทนา แล้วประทานการบรรพชาแก่อุบาลีก่อนตามประสงค์
    แล้วประทานการบรรพชาแก่กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ภายหลัง เมื่อบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ
    ในพระพุทธศาสนาแล้ว
    พระภัททิยะ ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ พร้อมไตรวิชาภายในพรรษานั้น
    พระอนุรุทธะ ได้สำเร็จทิพยจักษุญาณก่อนแล้วภายหลังได้ฟังพระธรรมเทศนา
    มหาปุริสวิตกสูตร ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
    พระอานนท์ ได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลชั้นโสดาบัน
    พระภัคคุ เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
    พระกิมพิละ เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
    พระเทวทัต ได้บรรลุธรรมชั้นฤทธิ์ปุถุชนอันเป็นโลกิยะ
    พระอุบาลี ศึกษาพุทธพจน์แล้ว เจริญวิปัสสนากรรมฐาน
    ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ภายในพรรษานั้น
  • พระอนุรุทธะ เมื่ออุปสมบทแล้ว ได้เรียนกรรมฐานจากพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรแล้ว
    เข้าไปสู่ป่าปาจีนวังสมฤคทายวัน ขณะเจริญสมณธรรมอยู่นั้นได้ตรึกถึงมหาปุริสวิตก ๗ ประการ
    คือ:-
    ๑ ธรรมนี้ของผู้มีความปรารถนาน้อย ไม่ใช่ของผู้มีความปรารถนาใหญ่
    ๒ ธรรมนี้ของผู้สันโดษ ยินดีด้วยของที่มีอยู่ ไม่ใช่ของผู้ไม่สันโดษ
    ๓ ธรรมนี้ของผู้สงัดแล้ว ไม่ใช่ของผู้ยินดีในหมู่
    ๔ ธรรมนี้ของผู้ปรารภความเพียร ไม่ใช่ของผู้เกียจคร้าน
    ๕ ธรรมนี้ของผู้มีสติตั้งมั่น ไม่ใช่ของผู้มีสติหลง
    ๖ ธรรมนี้ของผู้มีใจตั้งมั่น ไม่ใช่ของผู้มีใจไม่ตั้งมั่น
    ๗ ธรรมนี้ของผู้มีปัญญา ไม่ใช่ของผู้มีปัญญาทราม
เมื่อพระเถระตรึกอยู่อย่างนี้ พระบรมศาสดาเสด็จไปยังที่อยู่ของพระเถระ ทราบว่าเธอ
กำลังตรึกอยู่อย่างนั้น ทรงอนุโมทนาว่า ดีล่ะ ดีล่ะ แล้วทรงแนะให้ตรึกในข้อที่ ๘ ว่า
๘ ธรรมนี้ของผู้ยินดีในธรรมที่ไม่เนิ่นช้า ไม่ใช่ของผู้ยินดีในธรรมที่เนิ่นช้า
  • ได้รับยกย่องผู้มีทิพยจักษุญาณ
    ครั้นเมื่อพระพุทธองค์ตรัสสอนพระเถระแล้ว ได้เสด็จกลับสู่ที่ประทับ ส่วน
    พระอนุรุทธะ ได้บำเพ็ญสมณธรรมต่อไป ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล ตั้งแต่นั้นมา ท่านได้ตรวจดู
    สัตว์โลกด้วยทิพยจักษุญาณเสมอ ยกเว้นขณะกำลังฉันภัตตาหารเท่านั้น
    ด้วยเหตุนี้ พระบรมศาสดา ได้ตรัสยกย่องชมเชยท่านในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นผู้เลิศกว่า
    ภิกษุทั้งหลาย ในทาง ผู้มีทิพยจักษุญาณ
  • ปฐมเหตุประเพณีการทอดผ้าบังสุกุล-ผ้าป่า
    สมัยหนึ่งท่านพระอนุรุทธเถระ จำพรรษาอยู่ที่เวฬุวันเมืองราชคฤห์ จีวรที่ท่านใช้อยู่นั้น
    เก่ามาก ท่านจึงแสวงหาผ้าบังสุกุล (ผ้าเปื้อนฝุ่น) ตามกองขยะ กองหยากเยื่อเพื่อนำมาทำจีวร
    ครั้งนั้น อดีตภรรยาเก่าของท่านชื่อ ชาลินี ซึ่งจุติได้เกิดเป็นเทพธิดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เห็น
    พระเถระแสวงหาผ้าอยู่เช่นนั้นก็เกิดศรัทธาเลื่อมใส จึงนำผ้าทิพย์มาจากสวรรค์ลงมายังโลก
    มนุษย์ และคิดว่า “ถ้าเราจะนำเข้าไปถวายโดยตรง พระเถระก็คงไม่รับแน่” จึงหาอุบายซุกผ้าผืน
    นั้นในกองขยะกองหยากเยื่อ มีชายผ้าโผล่ออกมาเพื่อให้พระเถระได้เห็น ในทางที่พระเถระ
    กำลังเดินมุ่งหน้าไปทางนั้น พระเถระเห็นชายผ้าผืนนั้นแล้วถึงออกมาพิจารณาเป็นผ้าบังสุกุลและ
    คิดว่า “ผ้าผืนนี้เป็นผ้าบังสุกุลที่มีคุณค่ายิ่งนัก” แล้วนำกลับไปสู่อาราม เพื่อจัดการทำจีวร
  • พระพุทธองค์ช่วยเย็บจีวร
    ในการทำจีวรของท่านนั้นเป็นงานที่ยิ่งใหญ่มาก ทั้งนี้ก็เพราะว่าพระบรมศาสดาทรงพา
    พระมหาสาวกเป็นจำนวนมากมาร่วมทำจีวร โดยพระองค์เองทรงร้อยเข็ม พระมหากัสสปะนั่ง
    อยู่ช่วงต้น พระสารีบุตรนั่งอยู่ตรงกลาง พระอานนท์นั่งอยู่ช่วงปลายสุด ทั้ง ๓ ท่านนี้ช่วยกันเย็บ
    จีวร ส่วนพระภิกษุสงฆ์ที่เหลือก็ช่วยกันกรอด้าย พระมหาโมคคัลลานะ กับนางเทพธิดาชาลินี
    ช่วยกันไปชักชวนอุบาสกอุบาสิกาในหมู่บ้าน ให้นำภัตตาหารมาถวายพระบรมศาสดาและพระ
    ภิกษุสงฆ์ประมาณ ๕๐๐ รูป การเย็บจีวรของพระอนุรุทธะสำเร็จลงด้วยดีภายในวันเดียวเท่านั้น
    อนึ่ง กิริยาที่นางเทพธิดาชาลินี นำผ้าไปวางซุกไว้ในกองขยะกองหยากเยื่อ ในลักษณะ
    ทอดผ้าบังสุกุลนั้น พุทธบริษัทได้ถือเป็นแบบอย่างในการทอดผ้าบังสุกุล และทอดผ้าป่าใน
    ปัจจุบันนี้
    พระอนุรุทธเถระ ดำรงชนมายุมาถึงหลังพุทธปรินิพพาน ในวันที่พระบรมศาสดา
    นิพพานนั้น ท่านก็ร่วมอยู่เฝ้าแวดล้อม ณ สาลวโนทยานนั้นด้วย และท่านยังได้ร่วมทำกิจพระ
    ศาสนาครั้งสำคัญ ในการทำปฐมสังคายนากัลป์คณะสงฆ์โดยมีพระมหากัสสปเถระเป็นประธาน
    พระอุบาลีเถระวิสัชนาพระวินัย และพระอานนท์เถระวิสัชนาพระสูตรและพระอภิธรรม
    ท่านพระอนุรุทธเถระ ดำรงอายุสังขาร โดยสมควรแก่กาลเวลาแล้วก็ดับขันธ์ เข้าสู่
    นิพพาน ณ ภายใต้ร่มกอไผ่ ในหมู่บ้านเวฬุวะ แคว้นวัชชี
84000.org...::

10-พระภัททิยเถระ เอตทัคคะในทางผู้เกิดในตระกูลสูง

10-พระภัททิยเถระ
เอตทัคคะในทางผู้เกิดในตระกูลสูง

พระภัททิยะ เกิดในตระกูลกษัตริย์ศากยวงศ์ ในกรุงกบิลพัสดุ์ เป็นราชโอรสของพระ
นางกาฬีโคธา (พระนามเดิมชื่อว่า โคธา แต่เพราะมีผิวกายดำ คนทั่วไปจึงเรียกว่า กาฬีโคธา)
เมื่อเจริญวัยขึ้นได้ครองครองราชย์สมบัติสืบศากยวงศ์ ทรงพระนามว่า “พระเจ้าภัททิยราชา”
มีพระสหายที่รักใคร่สนิทสนมกันมาก พระนามว่า “เจ้าชายอนุรุทธกุมาร” ซึ่งเป็นเชื้อสาย
ศากยวงศ์เช่นกัน
  • บวชเพราะเพื่อนชวน
    สมัยหนึ่ง เมื่อพระบรมศาสดาประทับอยู่ ณ อนุปิยนิคมของมัลลกษัตริย์ ครั้งนั้น
    ศากยกุมารจากตระกูลต่าง ๆ ผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของบุคคลทั่ว ๆ ไป ได้ออกบวชติดตามพระ
    พุทธองค์เป็นจำนวนมาก ดังนั้น เจ้าชายมหานามะ โอรสของพระเจ้าอมิโตทนะ จึงได้ปรึกษา
    กับเจ้าชายอนุรุทธะผู้เป็นอนุชาว่า:-
    “อนุรุทธะ ศากยกุมารจากตระกูลอื่น ๆ ออกบวชติดตามพระบรมศาสดาเป็นจำนวนมาก
    ตระกูลของเรานี้ ถ้าไม่มีใครออกบวชเสียเลยก็ดูจะไม่สมควร ดังนั้นเราสองคนนี้ ใครคนใดคน
    หนึ่งควรจะออกบวชติดตามพระบรมศาสดาบ้าง”
    เนื่องจากอนุรุทธกุมารนั้น ได้รับการบำรุงเลี้ยงดูมาอย่างดีไม่เคยได้รับความเหนื่อยยาก
    ลำบากเลย เป็นบุตรสุขุมาลชาติละเอียดอื่น จึงทูลแก่เจ้าพี่มหานามะว่า:-
    “เจ้าพี่มหานามะ ขอให้เจ้าพี่ออกบวชเองเถิด น้องเป็นคนอ่อนแอ ไม่สามารถจะบวช
    ได้”

เจ้าชายมหานามะก็ตกลงที่จะบวชเอง ดังนั้นจึงสอนหน้าที่ของคนที่จะอยู่ครองเรือนให้
เจ้าชายอนุรุทธะทราบ โดยยกเรื่องการทำนาขึ้นมาสอน เพราะเป็นงานหลักของผู้อยู่ครองเรือน
โดยเริ่มตั้งแต่การไถนา การหว่านข้าวเป็นลำดับไปจนกระทั่งเก็บเกี่ยว การนวดข้าวแล้วจึงนำ
เข้าไปเก็บในยุ้งฉาง และต้องทำอย่างนี้ทุกปีเมื่อถึงฤดูกาล
เจ้าชายอนุรุทธะ ได้สดับแล้วเกิดความท้อแท้ขึ้นมา เห็นว่าการบวชน่าจะเป็นงานที่เบา
กว่าและเป็นงานที่มีจุดสิ้นสุด จึงเปลี่ยนใจทูลเจ้าพี่มหานามะว่า “จะขอบวชเอง ให้เจ้าพี่อยู่ครอง
เรือนต่อไปเถิด”
เมื่อตกลงกับเจ้าที่มหานามะแล้ว จึงเข้าไปทูลลาพระมารดา เพื่อออกบวชแต่ไม่ได้รับ
อนุญาต ได้พยายามอ้อนวอนอยู่หลายวัน พระมารดาก็ยังคงไม่อนุญาตเช่นเดิม จึงกราบทูลว่า
ถ้าไม่อนุญาตก็จะขออดข้าวอดน้ำจนกว่าจะตายแล้วก็เริ่มอดอาหารและน้ำดื่ม ตั้งแต่นั้นเป็นต้น
ไป
พระมารดา เห็นว่าลูกชายทำตามที่พูดจริง ด้วยเกรงว่าลูกชายจะได้รับอันตรายถึงชีวิต
จึงคิดว่า “ถ้าให้ลูกชายบวชก็ยังจะได้เห็นหน้าลูกชายต่อไป บางทีลูกชายบวชแล้ว ได้รับความ
ลำบากก็อาจจะสึกออกมาเอง แต่ถ้าไม่ให้บวชลูกชายอาจจะตายจริง ๆ ก็ได้” จึงบอกแก่ลูกชาย
ว่า “อนุญาตให้บวชได้ แต่มีข้อแม้ว่า พระเจ้าภัททิยะจะต้องเสด็จออกบวชด้วย จึงจะอนุญาตให้
บวช” เหตุที่พระนางมีข้อแม้อย่างนี้ก็ด้วยคิดว่า “พระเจ้าภัททิยะนั้นทรงเป็นพระราคาปกครอง
บ้านเมือง ถึงอย่างไรก็คงไม่ออกบวชแน่”
เจ้าชายอนุรุทธะ ดีพระทัย จึงรีบไปชวนพระเจ้าภัททิยะทันที พระเจ้าภัททิยะ ไม่คิดว่า
พระสหายจะมาชักชวนด้วยเรื่องอย่างนี้ พระองค์เองก็มีภาระหน้าที่รับผิดชอบต่อบ้านเมืองมาก
มาย จะออกบวชได้อย่างไร จึงตรัสปฏิเสธไปว่า:-
“สหาย เราไม่สามารถจะออกบวชได้ แต่ถ้ามีกิจอื่นใดที่เราสามารถจะทำให้ได้ก็จะทำ
ให้ทุกอย่าง ส่วนเรื่องการบวชนั้น ขอสหายจงบวชเองเถิด”
เจ้าชายอนุรุทธะ จึงอ้างพระดำรัสของพระมารดาซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้มากล่าว
ให้สหายฟังว่า:-
“ถ้าสหายออกบวชด้วย เราจึงจะได้บวช ดังนั้นการบวชของเราจึงเกี่ยวเนื่องด้วยสหาย
เป็นสำคัญ”
พระเจ้าภัททิยะ ทนต่อการอ้อนวอนรบเร้าของสหายรักไม่ได้ จึงยอมตกลงออกบวช
ด้วย เพียงพอเวลาจัดมอบหมายงานต่าง ๆ ให้ผู้รับช่างสืบต่อไปให้เรียบร้อยก่อนสัก ๒-๓ วัน
ในการเสด็จออกบวชของ เจ้าชายภัททิยะ กับ เจ้าชายอนุรุทธะ นั้น ได้มีศากยกุมาร
อื่น ๆ ออกบวชด้วยอีก ๓ พระองค์ คือ เจ้าชายอานนท์ เจ้าชายภัคคุ และ เจ้าชายกิมพิละ จึงรวม
เป็นฝ่ายศากยะ ๕ พระองค์ และมีฝ่ายโกลิยะ ๑ พระองค์ คือ เจ้าชายเทวทัต และมีนายภูษามาลา
ชื่อ อุบาลี ได้ร่วมออกบวชด้วยกัน เป็นอันว่าการออกบวชในครั้งนี้มีทั้งหมด ๗ ท่าน ด้วยกัน
ได้พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ที่อนุปิยอัมพวัน แคว้นมัลละ กราบทูลขออุปสมบทพระ
พุทธองค์ประทานด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา
  • เปล่งอุทานว่าสุขหนอ ๆ
    พระภัททิยะเถระ เมื่ออุปสมบทแล้วศึกษาพระกรรมฐานจากสำนักของพระบรมศาสดา
    อุตสาห์บำเพ็ญเพียรไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมด้วยวิชชา ๓ ภายในพรรษานั้น
    ตั้งแต่นั้นมาไม่ว่าท่านจะอยู่ในที่ใด ได้แก่ ในป่า ใต้ร่มไม้ หรือในอาราม เมื่อยามว่าง
    ยามสงบ ท่านก็มักจะเปล่งอุทานว่า “สุขหนอ ๆ” อยู่เสมอ จนภิกษุทั้งหลายได้ยินได้ฟังแล้วเข้า
    ใจว่า ท่านไม่ยินดีในการประพฤติพรหมจรรย์รำถึงนึกถึงแต่ราชสมบัติอยู่ จึงนำความเข้ากราบ
    ทูลพระผู้มีพระภาค พระพุทธองค์รับสั่งให้เรียกท่านมา ตรัสถาว่า:-
    “ภัททิยะ ทราบว่าเธอเปล่งอุทานว่าอย่างนั้นจริงหรือ ?”
    “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เป็นความจริง พระเจ้าข้า”
    “เธอเห็นประโยชน์อะไร จึงเปล่งอุทานอย่างนั้น ?”
    “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมัยเมื่อข้าพระองค์เป็นฆราวาส ครอบครองราชย์สมบัติอยู่
    ต้องดูแลป้องกันรักษาขอบขัณฑสีมาทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก ทั่วราชอาณาเขต แม้แต่ตัว
    ข้าพระองค์เองจะมีคนคอยดูแลป้องกันรักษาอยู่รอบข้างกายเป็นนิตย์ ก็อดที่จะสะดุ้งจิตหวาด
    กลัว มิได้ บัดนี้ แม้ข้าพระองค์จะอยู่ในที่ใด ๆ ในป่า หรือใต้ร่มไม้ หรือที่อื่น ๆ เพียงลำพัง ก็ไม่
    ต้องสะดุ้งกลัว ขนก็ไม่ลุกชูชัน อาศัยอาหารผู้อื่นเลี้ยงชีพ ไม่ต้องวิตกกังวลรับผิดชอบต่อชาติ
    บ้านเมืองและประชากร ข้าพระองค์เห็นประโยชน์สุขอย่างนี้ จึงเปล่งอุทานอย่างนั้น พระเจ้าข้า"
    พระบรมศาสดา ทรงสดับแล้ว ได้ตรัสยกย่องชมเชยในการกระทำของท่าน และโดยที่
    ท่านเกิดในตระกูลกษัตริย์ จัดว่าเป็นตระกูลสูงสุด (พระมารดาของท่านเป็นผู้มีอายุสูงกว่า
    ศากิยานีทั้งหลาย) พระพุทธองค์จึงทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย
    ในทาง ผู้เกิดในตระกูลสูง
    ท่านพระภัททิยเถระ ดำรงอายุสังขาร โดยสมควรแก่กาลเวลาแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน
84000.org...::

วันศุกร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2562

09-พระอุบาลีเถระ เอตทัคคะในทางผู้ทรงพระวินัย


09-พระอุบาลีเถระ
เอตทัคคะในทางผู้ทรงพระวินัย

พระอุบาลี เกิดในตระกูลช่างกัลบก ในกรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อเจริญเติบโตขึ้นได้รับแต่งตั้ง
ให้ทำหน้าที่เป็นช่างกัลบก หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ช่างภูษามาลา มีหน้าที่ตัดแต่งพระเกศา
ประจำราชสกุลศากยะ ซึ่งมีเจ้าชายภัททิยะ เจ้าชายอนุรุทธะ เจ้าชายภัคคุ เจ้าชายกิมพิละ และ
เจ้าชายอานนท์ เป็นต้น ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความจงรักภักดี เสมอต้นเสมอปลายต่อเจ้าชาย
ทุก ๆ พระองค์ จนเป็นที่ไว้วางพระหฤทัย
  • ขอบวชตามเจ้าศากยะ
    ในสมัยที่พระพุทธองค์ เสด็จมาโปรดพระประยูรญาติที่นครกบิลพัสดุ์ แล้วเสด็จไป
    ประทับที่อนุปิยอัมพวัน ซึ่งเป็นแว่นแคว้นของมัลลกษัตริย์ เจ้าชายศากยะทั้ง ๕ พระองค์ ที่
    กล่าวนามข้างต้น ได้ตัดสินพระทัยออกบวชเป็นพุทธสาวก และอุบาลีช่างกัลบกก็ขอบวชด้วย
    จึงรวมเป็น ๗ พระองค์ด้วยกัน
    พระอุบาลี เมื่อบวชแล้ว ได้ศึกษาพระกรรมฐานจากพระภาค หลังจากนั้นท่านมีความ
    ประสงค์จะไปบำเพ็ญสมณธรรมในป่า เพื่อหาความสงบตามลำพัง แต่เมื่อกราบทูลลาพระผู้มี
    พระภาคแล้ว พระองค์ไม่ทรงอนุญาต ได้มีรับสั่งแก่เธอว่า
    “อุบาลี ถ้าเธอไปอยู่ในป่าบำเพ็ญสมณธรรม ก็จะสำเร็จเพียงวิปัสสนาธุระ แต่ถ้าเธออยู่
    ในสำนักของคถาคต ก็จะสำเร็จธุระทั้งสอง คือ ทั้งวิปัสสนาธุระ และคันถธุระ (การเรียนคัมภีร์
    ต่าง ๆ )”
    ท่านปฏิบัติตามพระพุทธดำรัสที่ตรัสแนะนำ ได้ศึกษาพระพุทธพจน์ไปพร้อมกับเจริญ
    วิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็บรรลุพระอรหัตผลในพรรษานั้น หลังจากนั้นท่านก็เป็นกำลัง
    สำคัญ ในการเผยแผ่พระศาสนา เพราะความที่ท่านอยู่ใกล้ชิดพระบรมศาสดาโดยตรง ท่านจึงมี
    ความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ ในด้านพระวินัย ท่านช่วยอบรมสั่งสอนถ่ายทอดความรู้ด้าน
    พระวินัยให้แก่ศิษย์สัทธิวิหาริกของท่านเป็นจำนวนมาก ถ้ามีอธิกรณ์เกิดขึ้นแก่ภิกษุสงฆ์หรือ
    เกี่ยวกับพระวินัยแล้ว พระพุทธองค์จะทรงมอบให้ท่านเป็นผู้วินิจฉัย
  • ตัดสินใจคดีภิกษุณีท้อง
    สมัยหนึ่ง ลูกสาวเศรษฐีในกรุงราชคฤห์ หลังจากแต่งงานแล้วเข้ามาบวชโดยไม่ทราบว่า
    ตนตั้งครรภ์ เมื่อบวชได้ไม่นานครรภ์โตขึ้นมาก เป็นที่รังเกียจสงสัยของพุทธบริษัททั้งหลาย
    พระพุทธองค์แม้จะทรงทราบความจริงอยู่แล้ว แต่เพื่อให้ความจริงปรากฏชัดแก่พุทธบริษัททั้ง
    ปวง จึงรับสั่งให้พระอุบาลีเถระตัดสินความเรื่องนี้
    พระเถระ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านนี้มาร่วมกันพิสูจน์ โดยมีพระเจ้าปเสนทิโกศล เป็น
    ประธาน มีนางวิสาขา และอนาถปิณฑิกะ เป็นต้น ร่วมกันพิจารณาเมื่อคณะผู้พิจารณาได้ตรวจดู
    มือ เท้า และลักษณะของครรภ์แล้วนับวันนับเดือนสอบประวัติย้อนหลังโดยละเอียดแล้วก็ทราบ
    ชัดเจนว่า “นางตั้งครรภ์มาตั้งแต่ก่อนบวช”
    พระอุบาลีเถระ จึงได้ประกาศตัดสินในท่ามกลางพุทธบริษัททั้ง ๔ ว่า “ภิกษุณีรูปนี้ยังมี
    ศีลบริสุทธิ์อยู่” แล้วกราบทูลเนื้อความให้พระบรมศาสดาทรงทราบ พระพุทธองค์ได้ตรัส
    อนุโมทนาสาธุการแก่พระเถระว่า “ชำระความได้ถูกต้องยุติธรรม”
  • ปฐมสังคายนาวิสัชนาพระวินัย
    ผลงานที่ท่านได้เป็นกำลังสำคัญ ทำให้พระพุทธศาสนายืนยาวสืบสอดมาถึงปัจจุบันนี้
    ก็คือ หลังจากที่พระบรมศาสดาเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปเถระ ได้คัดเลือก
    พระอรหันตสาวก จำนวน ๕๐๐ รูป ร่วมกันทำปฐมสังคายนา โดยมติของที่ประชุมสงฆ์ได้มอบ
    ให้ท่านรับหน้าที่วิสัชนาพระวินัย โดยรวบรวมพระวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ในที่ต่าง ๆ
    เกี่ยวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ นำมาจัดรวบรวมเป็นหมวดหมู่จนเป็น พระวินัยปิฎก ที่เป็นหลักฐานให้
    ศึกษากันในปัจจุบันนี้
    อนึ่ง ในการทำสังคายนาครั้งที่ ๓ โดยการนำของพระโมคคัลลีบุตร ติสสเถระ ก็ถือว่า
    ท่านสืบเชื้อสายการศึกษาพระวินัยมากจากศิษย์ของพระอุบาลีเถระเช่นกัน
    ด้วยความที่ท่านพระอุบาลีเถระ เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านพระวินัยนี้ จึงได้รับยกย่องจาก
    พระบรมศาสดา ในตำแหน่งเอตทัคคะเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทาง ผู้ทรงพระวินัย
    ท่านพระอุบาลีเถระ ดำรงอายุสังขาร โดยสมควรแก่กาลเวลาแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน
84000.org...::

08-พระราหุลเถระ เอตทัคคะในทางผู้ใคร่ในการศึกษา

08-พระราหุลเถระ
เอตทัคคะในทางผู้ใคร่ในการศึกษา

พระราหุล เป็นโอรสของเจ้าชายสิทธัตถะ (พุทธโอรส) กับพระนางยโสธรา หรือพิมพา
เป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้ครองนครกบิลพัสดุ์ ประสูติวันเดียวกันกับที่พระ
บิดาเสด็จออกบวช ดังนั้น ท่านจึงเจริญพระชันษาเติบโตขึ้นมาโดยมิเคยเห็นพระพักตร์รู้จักพระ
บิดาเลย จวบจนครั้นเมื่อพระบรมศาสดาตรัสรู้แล้ว เสด็จมาโปรดพระประยูรญาติที่กรุงกบิลพัส
ดุ์ ประทับอยู่ที่นิโครธาราที่พระประยูรญาติสร้างถวาย ในวันรุ่งขึ้นเวลาเช้าทรงปฏิบัติพุทธกิจ
เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในพระนครกบิลพัสดุ์ ทรงแสดงธรรมโปรดพระเจ้าสุทโธทนะพระบิดาใน
ระหว่างถนน ให้พระบิดาดำรงอยู่ในพระโสดาปัตติผล
ในวันที่ ๒ เสด็จเข้าไปรับบิณฑบาตในพระราชนิเวศน์ ทรงแสดงธรรมโปรดพระบิดา
และพระนางมหาปชาบดีโคตรมี เมื่อจบพระธรรมเทศนาพระบิดาดำรงอยู่ในพระสกทาคามี
ส่วนพระนางมหาปชาบดีโคตรมี ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ว่าพระพุทธ
องค์จะเสด็จเข้าไปรับอาหารบิณฑบาตในพระราชนิเวศน์ถึง ๖ วันแล้วก็ตาม แต่พระนางพิมพา
พระมารดาของราหุลกุมาร ก็มิได้มาเฝ้าพระพุทธองค์ ดุจบุคคลอื่น ๆ เลย
  • ราหุลกุมารทูลขอทรัพย์สมบัติ
    ครั้นล่วงถึงวันที่ ๗ แห่งการเสด็จเยือนพระนครกบิลพัสดุ์ พระนางพิมพาราชเทวี
    ประดับตกแต่งองค์ราหุลกุมารราชโอรสด้วยอาภรณ์อันวิจิตรแล้วตรัสว่า:-
    “พ่อราหุลลูกรัก พ่อจงไปดูพระสมณะผู้มีผิวพรรณผ่องใส รูปงามดุจท่านท้าว
    มหาพรหม แวดล้อมด้วยพระสงฆ์สาวก เป็นจำนวนมาก พระสมณะองค์นั้นคือพระบิดาของเจ้า
    พระองค์มีขุมทรัพย์มหาศาลอันสุดจะคณนา นับแต่พระบิดาของเจ้าออกบวช เจ้าก็เหมือนหมด
    หวังในราชสมบัติ เจ้าจงไปกราบไหว้พระบิดาแล้วกราบทูลขอทรัพย์สมบัตินั้นในฐานะเป็น
    ทายาทสืบสันติวงศ์ต่อพระองค์เถิด”
    ราหุลกุมาร เสด็จเข้าไปเฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ตามพระดำรัสของพระมารดา
    กราบถวายบังคมแล้ว ทอดพระเนตรดูพระสัพพัญญู บังเกิดความรักในพระบิดา ทรงปราโมทย์
    โสมนัสตรัสชมว่า “ร่มเงาของพระองค์เย็นสดชื่นยิ่งนัก พระพักตร์ของพระองค์สดใสสุด
    ประมาณ” ดังนี้แล้วก็ตรัสเรื่องอื่น ๆ ต่อไปโดยมิได้กราบทูลขอทรัพย์สมบัติ
    พระพุทธองค์ ทรงกระทำภัตกิจเสร็จแล้ว ตรัสอนุโมทนา เสด็จกลับสู่นิโครธาราม
    ส่วนราหุลกุมารก็เสด็จติดตามไปจนถึงอาวาส มิมีผู้ใดจะสามารถกราบทูลทัดทานได้ เมื่อสบ
    โอกาสจึงกราบทูลขอทรัพย์สมบัติอันเป็นสิ่งที่รัชทายาทผู้สืบราชสันติวงศ์สันติวงศ์จะพึงได้รับ
  • พระราชทานอริยทรัพย์
    พระบรมศาสดา ได้ทรงสดับดังนั้นแล้วทรงดำริว่า “ราหุลกุมารปรารถนาทรัพย์สมบัติ
    อันเป็นของพระบิดา ถ้าตถาคตจะให้ขุมทองแก่เธอแล้ว ก็จะเป็นสิ่งชักนำให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่
    ในวัฏสงสาร ด้วยเป็นสิ่งหาสาระแม้สักนิดหนึ่งก็หามีไม่ อย่ากระนั้นเลย เราจะมอบอริยทรัพย์
    อันเป็นสิ่งประเสริฐสุดในพระพุทธศาสนานี้แก่เธอ ซึ่งจะจำให้เธอเป็นโลกุตรทายาท สืบสกุล
    ในพุทธวงศ์นี้สืบไป"
    ครั้นแล้วทรงมีพระดำรัสสั่งให้พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร จัดการบรรพชาให้แก่ราหุล
    กุมารในวันนั้น ด้วยวิธีให้รับไตรสรณคมน์ และสามเณรราหุล ได้ชื่อว่าเป็นสามเณรองค์แรกใน
    พระพุทธศาสนา
  • พระเจ้าสุทโธทนะทูลขอพร
    พระเจ้าสุทโธทนะ เมื่อทราบว่าราหุลกุมารบรรพชาแล้ว ทรงโทมนัสเสียพระทัยเป็น
    อย่างยิ่งด้วยหวังไว้แต่เดิมว่า เมื่อพระราชโอรสสิทธัตถะออกบวชแล้วก็หวังจะได้นันทกุมารสืบ
    ราชสมบัติต่อ แต่พระบรมศาสนาก็ทรงพานันทะออกบวช ทำให้ผิดหวังเป็นคำรบสอง แต่ก็ยังมี
    หวังอยู่ว่าจะให้ราหุลกุมารหลานรัก เป็นทายาทสืบราชสมบัติต่อไป แต่แล้วพระพุทธองค์ก็ทรง
    นำไปบวชเสียอีก จึงหมดสิ้นผู้สืบราชสมบัติต่อไป แต่แล้วพระพุทธองค์ก็ทรงนำไปบวชเสียอีก
    จึงหมดสิ้นผู้จะสืบสายรัชทายาท ทรงดำริต่อไปอีกว่า หากปล่อยไว้อย่างงี้อีกไม่นาน บรรดา
    กุมารในศากยสกุลก็จะถูกนำไปบวชจนหมดสิ้น อนึ่ง ความทุกข์โทมนัสอย่างนี้ก็จะเกิดแก่บิดา
    มารดาในสกุลอื่น ๆ ด้วยเหตุสิ้นคนสืบสกุล จึงรีบเสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าที่
    นิโครธาราม กราบทูลขอประทานพระพุทธอนุญาตว่า
    “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นับต่อแต่นี้ไป ถ้ากุลบุตรผู้ใดแม้ประสงค์จะบวชในพระพุทธ
    ศาสนา หากมารดาบิดายังมิยอมพร้อมใจกันอนุญาตให้บวชแล้วขอได้โปรดงดเสีย อย่าได้ให้
    บรรพชาแก่กุลบุตรผู้นั้นเลย”
    พระบรมศาสดา ได้ประทานพรตามที่พระพุทธบิดากราบทูลขอแล้วถวายพระพรลา พา
    พระนันทะ และสามเณรราหุล พร้อมด้วยหมู่ภิกษุสงฆ์เสด็จกลับสู่มหานครราชคฤห์
    เมื่อราหุลกุมาร บรรพชาเป็นสามเณรแล้ว ตามเสด็จพระบรมศาสดา และพระสารีบุตร
    เถระอุปัชฌาย์ของตน ไปยังสถานที่ต่าง ๆ เมื่ออายุครบก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ
    วันหนึ่ง ขณะที่พระราหุลพักอยู่ที่สวนมะม่วง ในกรุงราชคฤห์ พระบรมศาสดาเสด็จไป
    ที่นั่น ทรงแสดงพระธรรมเทศนาราหุโลวาทสูตร ให้ท่านฟังหลังจากนั้นทรงสอนในทาง
    วิปัสสนา ทรงยกอายตนะภายใน และภายนอกขึ้นแสดงพระราหุล ส่งจิตไปตามกระแสพระ
    ธรรมเทศนา ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล
  • ได้รับยกย่องเป็นผู้ใคร่การศึกษา
    พระราหุล เป็นผู้มีอัธยาศัยใคร่ต่อการศึกษาพระธรรมวินัย ทุกวันที่ท่านตื่นขึ้นมาเวลา
    เช้า ท่านจะกำทรายให้เต็มฝ่าพระหัตถ์แล้วตั้งความปรารถนาว่า “วันนี้ ข้าพเจ้าพึงได้รับคำสั่ง
    สอนจากสำนักพระบรมศาสดา สำนักพระอุปัชฌาย์และสำนักพระอาจารย์ทั้งหลายให้ได้
    ประมาณเท่าเม็ดทรายในกำมือของข้าพเจ้านี้”
    ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดา ให้ดำรงตำแหน่งเอตทัคคะ เป็น
    ผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทาง ผู้ใคร่ในการศึกษา
  • เป็นต้นบัญญัติ ห้ามภิกษุนอนร่วมกับอนุปสัมบัน
    ในขณะเมื่อท่านยังเป็นสามเณรเล็ก ๆ อยู่นั้น ท่านเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่ายจนเป็นที่เลื่องลือ
    ในหมู่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยว่า ครั้งนั้นพุทธบริษัททั้งหลาย ฟังธรรมกันยามค่ำคืน โดยมีพระเถระ
    ผลัดเปลี่ยนกันแสดงธรรม เมื่อสิ้นสุดการแสดงธรรมแล้ว พระเถระผู้ใหญ่ต่างก็กลับที่พักของ
    ตน ส่วนพระภิกษุผู้บวชใหม่ และสามเณรรวมทั้งอุบาสก ที่ไม่สามารถจะกลับที่พักได้เพราะค่ำ
    มือจึงอาศัยนอนกันในโรงธรรมนั้น เนื่องจากเป็นพระบวชใหม่ จึงไม่สำรวมในการนอน ทำให้
    เกิดภาพที่ไม่น่าดู รุ่งเช้า อุบาสกทั้งหลายพากันติเตียนและความทราบไปถึงพระผู้มีพระภาค
    พระพุทธองค์จึงรับสั่งประชุมสงฆ์แล้วทรงบัญญัติสิกขาบท “ห้ามภิกษุนอนร่วมในที่มุงที่บัง
    เดียวกันกับอนุปสัมบัน (อนุปสัมบัน คือ ผู้มิใช่พระภิกษุ) ถ้านอนร่วมต้องอาบัติปาจิตตีย์”
    ครั้นในคืนต่อมา สามเณรไม่สามารถจะนอนร่วมกับพระภิกษุได้ และเมื่อไม่มีที่จะนอน
    ท่านจึงเข้าไปนอนในเว็จกุฏี (ส้วม) ของพระบรมศาสดาเมื่อเวลาใกล้รุ่ง พระพุทธองค์เสด็จไป
    พบเธอนอนในที่นั้น และทรงทราบว่าเพราะเธอไม่มีที่นอนอันเนื่องมาจากพุทธบัญญัติทำให้
    พระองค์สลดพระทัยจึงดำริว่า “ต่อไปภายหน้า สามเณรน้อย ๆ จะได้รับความลำบาก เพราะขาด
    ผู้ดูแลเอาใจใส่” จึงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทเพิ่มเติมว่า:-
    “ให้ภิกษุนอนร่วมกับอนุปสัมบันได้ ๓ คืน ถ้าเกิน ๓ คืน พระภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์”
    ในพุทธบัญญัตินี้ หมายถึงให้ภิกษุนอนร่วมกับอนุปสัมบันได้ ๓ คืน ในคืนที่ ๔ ให้เว้น
    เสีย ๑ คืน แล้วค่อยกลับมานอนรวมกันใหม่ได้ โดยเริ่มนับหนึ่งจนถึงคืนที่ ๓ ทำโดยทำนองนี้จน
    กว่าจะมีสถานที่นอนแยกกันเป็นการถาวร
    ท่านพระราหุลเถระ ดำรงอายุสังขาร โดยสมควรแก่กาลเวลาแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน
    ที่บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ณ ดาวดึงส์เทวโลก
    ท่านมีอายุไม่มากนัก เพราะท่านนิพพานก่อนพระพุทธองค์ผู้เป็นพระบิดา ก่อน
    พระสารีบุตรผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ ก่อนพระมหาโมคคัลลานะผู้เป็นพระอาจารย์

84000.org...::

07-พระนันทเถระ เอตทัคคะในทางผู้สำรวมอินทรีย์




07-พระนันทเถระ
เอตทัคคะในทางผู้สำรวมอินทรีย์

พระนันทศากยะ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ กับ พระนางมหาปชาบดี
โคตรมี พระน้านาง เป็นพุทธอนุชาร่วมพระบิดาเดียวกัน เมื่ออยู่ในครรภ์พระมารดา บรรดา
พระประยูรณาติปรารถนาจะได้เห็น ต่างก็มีความปีติยินดีร่างเริงบันเทิงใจ เมื่อประสูติออกมาจึง
ขนานนามว่า “นันทกุมาร”
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกบรรพชา บำเพ็ญเพียร ได้ตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณแล้ว
เสด็จโปรดพระประยูรญาติ ณ พระนครกบิลพัสดุ์ และในวันที่ ๔ แห่งการเสด็จโปรดพระประยูร
ณาตินั้น พระบรมศาสดาทรงรับอาราธนาเข้าไปรับอาหารบิณฑบาตในนิวาสสถานแห่ง
นันทกุมาร เนื่องในการอาวาหมงคลอภิเษกสมรส ระหว่างนันกุมารกับนางชนปทกัลยาณี
  • อุ้มบาตรตามเสด็จ
    ครั้งเสร็จภัตกิจแล้ว พระพุทธองค์ประทานบาตรส่งให้นันทกุมารถือไว้ตรัสมงคลกถาแก่
    พระประยูรญาติในสมาคมนั้นโดยสมควรแล้ว เสด็จลุกจากอาสนะ เสด็จลงจากนิวาสสถานโดย
    มิได้รับบาตรคืนจากนันทกุมาร ส่วนนันทะเองก็ไม่กล้ากราบทูลเตือนให้ทรงรับบาตรคืน ด้วย
    ความเคารพในพระเชษฐาเป็นอย่างยิ่ง ได้แก่ถือบาตรตามเสด็จลงมาโดยมิได้ตรัสอะไร ได้แต่
    นึกอยู่ในใจว่าพระองค์คงจะรับบาตรคืนเมื่อถึงพื้นล่าง เมื่อพระองค์ไม่ทรงรับบาตร จึงดำริต่อ
    ไปว่าเมื่อเสร็จถึงประตูพระราชวังก็คงจะทรงรับ ครั้นเห็นว่าไม่ทรงรับก็ถือบาตรตามเสด็จไป
    เรื่อย แล้วก็ดำริอยู่ในใจว่า ถึงตรงนั้นก็คงจะทรงรับ ถึงตรงนี้ก็คงจะทรงรับ แต่พระพุทธองค์ก็มิ
    ทรงรับบาตรคืนเลย
    ส่วนนางชนปทกัลยาณี เมื่อได้ทราบจากนางสนมว่า พระผู้มีพระภาค ทรงพานันทกุมาร
    ไปด้วยก็ตกพระทัย รีบเสด็จตามไปโดยเร็วแล้วร้องทูลสั่งว่า:-
    “ข้าแต่พระลูกเจ้า ขอพระองค์รีบเสด็จกลับโดยด่วน”
    จำใจบวช
    นันทราชกุมาร ได้สดับเสียงของนางแล้วประหนึ่งว่า เสียงนั้นเข้าไปขวางอยู่ในหฤทัย
    ให้รู้สึกปั่นป่วนอยากจะหวนกลับ แต่ก็กลับไม่ได้ ด้วยมีความเคารพในพระบรมศาสดาเป็น
    อย่างมาก ต้องทนฝืนพระทัยถือบาตรตามเสด็จจนถึงนิโครธาราม เมื่อเสด็จถึงพระคันธกุฏี พระ
    ผู้มีพระภาค ทรงรับบาตรคืนแล้วตรัสแก่นันทกุมารว่า “นันทะ เธอจงบรรพชาเถิด”
    สำหรับนันทกุมารนั้น เรื่องการบวชไม่มีอยู่ในความคิดเลยแม้สักนิดหนึ่ง ภายในดวงจิต
    คิดคำนึงถึงแต่ถ้อยคำและพระพักตร์ของนางชนปทกัลยาณีที่มาร้องสั่งเตือนให้รีบเสด็จกลับ แต่
    เพราะความเคารพยำเกรงในพระเชษฐาเป็นยิ่งนักไม่สามารถจะขัดพระบัญชาได้ จึงจำใจรับพระ
    พุทธฏีกา บวชในวันนั้น
    พระนันทะ นับตั้งแต่บวชแล้ว ในดวงจิตคิดคำนึงถึงแต่นางชนปทกัลยาณีเจ้าสาวของ
    ตนที่เพิ่งจะแต่งงานกัน แล้วก็ต้องจำพรากจากกันด้วยความเคารพในพระศาสดา ไม่มีแก่ใจที่จะ
    ประพฤติพรตพรหมจรรย์ มีแต่ความกระสันที่จะลาสิกขาอยู่ตลอดเวลา ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร
    ก็ได้แต่เล่าความในใจนั้นให้เพื่อสหธรรมมิด้วยกันฟัง

  • เปรียบอดีตเจ้าสาวเหมือนลิงแก่
    พระบรมศาสดา ทรงทราบความจึงทรงพาพระนันทะเที่ยวจาริกไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อ
    ให้พระนันทะได้เห็นสตรีที่มีรูปร่างต่าง ๆ กัน ตั้งต้นแต่ให้เห็นสิ่งที่อัปลักษณ์ที่สุด โดยให้ได้
    เห็นนางลิงแก่ที่หูแหว่ง จมูกโหว่ และหางขาด นั่งอยู่บนตอไม้ที่ไฟไหม้ดำเป็นตอตะโก จน
    กระทั่งให้ได้เห็นนางเทพอัปสรบนสวรรค์ชั้นต่าง ๆ ที่สวยโสภายิ่งนักจนหาที่สุดมิได้ ทำให้เกิด
    ความกระสันอยากได้นางเทพอัปสรเหล่านั้นมาเป็นคู่ครอง พระบรมศาสดาทรงทราบวาระจิต
    ของท่าน จึงตรัสถามว่า “นันทะ เธอมีความเห็นอย่างไร ระหว่างนางเทพอัปสร เหล่านี้ กับ
    นางชนปทกัลยาณี เจ้าสาวของเธอ ?”
    “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เห็นว่า นางชนปทกัลยาณีนั้นเปรียบเสมือนนางลิงแก่
    ที่นั่งอยู่บนตอไม้ จะนำมาเปรียบเทียบกับนางเทพอัปสรเหล่านี้มิได้เลย พระเจ้าข้า”
    พระบรมศาสดา ทรงรับรองว่า ถ้าเธอตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์แล้ว เธอก็จะได้นางเทพ
    อัปสรเหล่านั้นตามต้องการ ตั้งแต่นั้นมาพระนันทะได้ตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อหวังจะได้
    นางเทพอัปสรตามที่พระบรมศาสดา ทรงรับรองไว้ เพื่อนภิกษุทั้งหลายทราบความแล้ว ต่างก็พา
    กันพูดจาเยาะเย้ยว่า “พระนันทะ บวชเพราะรับจ้างบ้าง พระนันทะ ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อ
    หวังจะได้นางเทพอัปสรบ้าง” จนทำให้พระนันทะเกิดความละอายใจไม่กล้าเข้าสมาคมกับเพื่อน
    พระภิกษุด้วยกันและเกิดความคิดขึ้นว่า:-
    “ความรักไม่มีที่สิ้นสุด ความรักทำให้เกิดความทุกข์ และความเศร้าโศกเสียใจไม่มีที่สิ้น
    สุด”
    “อนึ่ง สตรีที่มีความงามก็ไม่มีที่สิ้นสุด คนใหม่ย่อมดูงามกว่าคนเก่า คนนั้นก็ดูสวยดี
    แต่คนนี้ก็งามกว่า จึงเป็นสิ่งที่หาที่สุดมิได้”
    ท่านจึงตัดสินใจปลีกตัวออกจากหมู่ภิกษุตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์อุตสาหะเจริญสมาธิ
    กรรมฐาน ตั้งจิตไว้โดยไม่ประมาท ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรอัตผล เป็นพระขีณาสพในพระ
    พุทธศาสนา จากนั้นท่านได้กลับมากราบทูลพระบรมศาสดาให้ทรงทราบว่า:-
    “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กิจอันใดที่พระองค์ทรงพระมหากรุณาจะช่วยสงเคราะห์ให้ได้
    นางฟ้านั้น กิจอันนั้นข้าพระองค์เปลื้องปลดจนหมดสิ้นสมประสงค์แล้ว พระเจ้าข้า”
    พระบรมศาสดา ตรัสอนุโมทนาและตรัสธรรมกถาว่า:-
    “อันเปือกตมคือกามคุณ และเสี้ยนหนามคือกองกิเลส อันบุคคลใดกำจัดทำลายได้แล้ว
    บุคคลนั้นชื่อว่ามีใจไม่หวั่นไหวในสุขและทุกข์ทั้งปวง
    อยู่มาวันหนึ่ง เพื่อนภิกษุถามท่านว่า “เมื่อก่อนนี้ท่านพูดว่ามีจิตปรารถนาจะสึก มาบัดนี้
    ท่านยังปรารถนาอย่างนั้นอยู่หรือไม่ ?"
    ท่านตอบว่า “ไม่มีความปรารถนาอย่านั้นอยู่อีกแล้ว”
    ภิกษุทั้งหลายพากันติเตียนแล้ว ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “พระนันทะพูดไม่เป็น
    ความจริง พระเจ้าข้า”
    พระบรมศาสดา ตรัสแก่ภิกษุเหล่านั้นว่า:-
    “ภิกษุทั้งหลายเมื่อก่อนนี้ อัตภาพของพระนันทะเปรียบเสมือนเรือนที่มุงหลังคาไม่ดี
    ฝนตกลงมาย่อมรั่วรดได้ แต่บัดนี้ เธอได้สำเร็จกิจแห่งบรรพชิตแล้ว จึงเปรียบเสมือนเรือนที่มุง
    หลังคาดีแล้ว ฝนตกลงมาย่อมไม่อาจรั่วรดได้ฉันใด จิตที่บุคคลเจริญสมาธิภาวนาดีแล้ว กิเลส
    ราคาทั้งหลายย่อมย่ำยีไม่ได้ ฉันนั้น”

  • ได้รับยกย่องในทางสำรวมอินทรีย์
    พระนันทเถระ เมื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ปรากฏว่าท่านเป็นผู้สำรวมระวังอินทรีย์
    ทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ มิให้ยินดียินร้ายในเวลาเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส
    ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจระวังไม่ให้กิเลสครอบงำใจในเวลารับรู้อารมณ์ทาง
    อินทรีย์ทั้ง ๖ มิให้ตกอยู่ในอำนาจโลกธรรม ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดา
    ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทาง ผู้สำรวมอินทรีย์
    ท่านพระนันทเถระ ดำรงอายุสังขาร ช่วยกิจการพระพุทธศาสนาอยู่ พอสมควรแก่กาล
    เวลาแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน

84000.org...::

วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2562

06-พระกาฬุทายีเถระ เอตทัคคะในทางผู้นำตระกูลให้เลื่อมใส




06-พระกาฬุทายีเถระ
เอตทัคคะในทางผู้นำตระกูลให้เลื่อมใส
พระกาฬุทายี เป็นบุตรของมหาอำมาตย์ในกรุงกบิลพัสดุ์ และเป็นสหชาติอีกคนหนึ่งที่
เกิดพร้อมกันกับเจ้าชายสิทธัตถราชกุมาร เดิมท่านชื่อว่า “อุทายี” แต่เพราะท่านมีผิวดำ คนทั่ว
ไปจึงเรียกท่านว่า “กาฬุทายี” เมื่ออยู่ในวัยเด็กก็เป็นพระสหายเล่นกันมากับเจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อ
เจริญเติบโตแล้ว ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กติดตามเจ้าชายสิทธัตถะ นับว่าเป็นผู้มีความสนิทสนม
คุ้นเคยกับพระมหาบุรุษเป็นอย่างมาก
ครั้นเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบรรพชาแล้ว พระเจ้าสุทโธทนะ พระบิดา คอยติด
ตามสดับรับฟังข่าวตลอดเวลา ครั้นได้ทราบว่าพระราชโอรสของพระองค์บำเพ็ญความเพียรทุกข
กิริยาเป็นเวลา ๖ พรรษา นั้น บัดนี้ ได้บรรลุอมตธรรม สำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณ สมดังคำ
พยากรณ์ของท่านอสิตดาบสและพราหมณ์ทั้ง ๘ คนแล้ว เสด็จเที่ยวประกาศพระธรรมคำสอน
ของพระองค์ตามคามนิคมต่าง ๆ ขณะนี้ประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันมหาวิหารใกล้เมืองราชคฤห์
พระพุทธบิดา ทรงตั้งพระทัยคอยอยู่ว่า เมื่อไรหนอ พระพุทธองค์จะเสด็จมาสู่พระนคร
กบิลพัสดุ์ ครั้งไม่มีข่าวว่าจะเสด็จมาเลย ก็เกิดความเล่าร้อนพระทัยปรารถนาจะได้ทอดพระ
เนตรเห็นสมเด็จพระบรมศาสดาโดยเร็ว จึงได้จัดส่งอำมาตย์พร้อมด้วย บริวาร ๑,๐๐๐ คน ให้
ไปกราบทูลอาราธนาเสด็จมายังพระนครกบิลพัสดุ์
แต่อำมาตย์และบริวารเหล่านั้น เมื่อเดินทางไปถึงกรุงราชคฤห์แล้ว รีบตรงไปยัง
พระเวฬุวันมหาวิหารโดยเร็ว ขณะนั้น พระพุทธองค์กำลังทรงแสดงพระธรรมเทศนา อยู่ใน
ท่ามกลางพุทธบริษัท คณะอำมาตย์จึงหยุดคอยโอกาสที่จะกราบทูลอาราธนา และขณะที่รอคอย
อยู่นั้นก็ได้สดับพระธรรมเทศนาไปด้วย เมื่อจบพระธรรมเทศนาลง อำมาตย์และบริวารได้บรรลุ
พระอรหัตผลด้วยกันทั้งหมดแล้วกราบทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระพุทธองค์ประทานด้วยเอหิ
ภิกขุอุปสัมปทา
เมื่ออุปสมบทแล้ว ทั้งอำมาตย์และบริวารก็สงบเสงี่ยมอยู่ตามสมณวิสัย จึงมิได้กราบทูล
อาราธนาพระบรมศาสดา ตามภารกิจที่พระเจ้าสุทโธทนะทรงมอบหมายมา
ฝ่ายพระเจ้าสุทโธทนะ คอยสดับข่าวอยู่ด้วยความกระวนกระวายพระทัย เมื่อข่าวเงียบ
หายไป อีกทั้งอำมาตย์ก็มิได้กลับมากราบทูลให้ทรงทราบและพระบรมศาสดาก็มิได้เสด็จมา จึง
ส่งอำมาตย์พร้อมด้วยบริวารอีกเท่าเดิม ชุดใหม่ให้ไปกราบทูลอาราธนา แต่อำมาตย์ชุดนี้เมื่อไป
ถึงได้ฟังพระธรรมเทศนาได้บรรลุพระอรหัตผลทั้งหมด กราบทูลขอบรรพชาอุปสมบทเหมือน
คณะแรก ซึ่งเป็นธรรมดาว่า พระอริยเจ้าทั้งหลายตั้งแต่ได้บรรลุพระอรหัตผลแล้ว ย่อมสังวร
สำรวมอยู่ในอริยภูมิ จึงมิได้กราบทูลข่าวสารของพระพุทธบิดาทำให้พระเจ้าสุทโธทนะ ต้องส่ง
อำมาตย์ไปโดยทำนองนี้ถึง ๙ ครั้ง ในที่สุดทรงพิจารณาเห็นว่า กาฬุทายีอำมาตย์ คงจะช่วยให้
สำเร็จสมพระประสงค์ได้เพราะเป็นอำมาตย์ผู้ใหญ่เป็นพระสหายเล่นฝุ่นกันมา เมื่อครั้งยังทรง
พระเยาว์ เป็นที่สนิทสนมแห่งพระบรมศาสดา จึงส่งไปพร้อมด้วยบริเวณจำนวนเท่าเดิม
กาฬุทายีอำมาตย์ รับสนองพระราชโองการว่า จะพยายามกราบทูลสมเด็จพระบรม
ศาสดา ให้เสด็จมาสู่พระนครกบิลพัสดุ์ให้สมพระราชประสงค์ให้จงได้ และได้กราบทูลเพื่อขอ
บรรพชาอุปสมบทในพุทธศาสนา ในโอกาสนี้ด้วย เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงออกเดินทางพร้อม
ด้วยบริวาร ถึงกรุงราชคฤห์ แล้วเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร พระพุทธองค์
ทรงแสดงธรรมโปรดจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ประทานอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพุทธ
ศาสนาด้วยกันทั้งสิ้น
เมื่อ พระกาฬุทายี บวชแล้วได้ ๘ วัน ก็สิ้นเหมันตฤดู ย่างเข้าสู่ฤดูคิมหันต์ ถึงวันเพ็ญ
เดือน ๔ พอดี ท่านคิดว่า.....
“พรุ่งนี้ ก็ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน บรรดากสิกรชาวนาทั้งหลาย ก็จะเกี่ยวข้าวกันแล้วเสร็จ หน
ทางที่จะเสด็จสู่กบิลพัสดุ์ ก็จะสะดวกสบาย ดอกไม้นานาพรรณก็เกลื่อนกล่นพื้นพสุธา พฤกษา
ชาติใหญ่น้อยที่ขึ้นอยู่ริมทาง ก็ให้ร่มเงาเย็นสบายนับว่าเป็นเวลาอันสมควรที่พระบรมศาสดาจะ
เสด็จไปสู่กรุงกบิลพัสดุ์ เพื่อสงเคราะห์พระประยูรญาติในบัดนี้”
พระกาฬุทายี จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังที่ประทับกราบทูลสรรเสริญหนทาง
เสด็จว่า:-
“พระพุทธเจ้าข้า หนทางไปสู่กรุงกบิลพัสดุ์บุรี เป็นวิถีทางสะดวกสบายตลอดสาย ยาม
เมื่อแสงแดดแผดกล้า ก็มีร่มไม้ได้พักอาศัยเป็นที่หลบร้อนตลอดระยะทาง ๖๐ โยชน์ หากพระ
องค์จะทรงบำเพ็ญปรหิตประโยชน์เสด็จโปรดพระประยูรญาติยังกบิลพัสดุ์นคร ก็จะเป็นที่
สำราญพระวรกาย ไม่ต้องรีบร้อนแม้แต่พระสาวกที่ติดตามก็จะไม่ลำบากด้วยน้ำและกระยาหาร
ด้วยตามระยะทาง มีโคจรคามเป็นที่ภิกขาจารตลอดสาย”
“อนึ่ง พระพุทธบิดา ก็มีพระทัยมุ่งหมายใคร่จะได้ทอดพระเนตร พระองค์พร้อมด้วย
ภิกษุสงฆ์ทั้งปวง หากพระองค์จะทรงพระกรุณาเสด็จไปโปรดให้สมมโนรถของพระชนกนาถ
ตลอดพระประยูรญาติษากยวงศ์ และประดิษฐานพระพุทธศาสนาลงที่กบิลพัสดุ์บุรี ก็จะเป็น
เกียรติเป็นศรีแก่พระพุทธศาสนา นำมาซึ่งคุณประโยชน์สุขแก่ปวงมหาชน เพื่อทรงโปรดพระ
ชนกนาถ และพระประยูรญาติให้ปีติยินดี ในคราวครั้งนี้เถิด”
สมเด็จพระบรมศาสดา ทรงสดับสุนทรกถาที่พระกาฬุทายี กราบทูลพรรณารวม ๖๔
คาถา ก็ทรงอนุโมทนาสาธุการทรงรับอารธนาตามคำกราบทูลของท่านแล้ว ตรัสสั่งให้ท่านไป
แจ้งข่าวแก่พระสงฆ์สาวกทั้งหลาย ให้ตระเตรียมการเดินทางไกล ณ กาลบัดนี้
  • แจ้งข่าวพระบรมศาสดาเสด็จ
    พระกาฬุทายีเถระ แจ้งข่าวให้พระสงฆ์ทั้งปวงทราบ ตามพระบัญชาบรรดาพระสงฆ์
    เหล่านั้น ก็พากันตระเตรียมบาตร จีวร และบริขารอื่น ๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้วกราบทูลให้ทรง
    ทราบ สมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จพุทธดำเนินพร้อมด้วยพระสงฆ์ ๒๐,๐๐๐ รูป เป็นบริวาร
    เสด็จจากรุงราชคฤห์สู่กรุงกบิลพัสดุ์โดยมิได้รีบร้อน เดินทางได้วันละโยชน์ (๑๖ กม.) เป็นเวลา
    ๖๐ วันพอดี
    ส่วน พระกาฬุทายีเถระ คิดว่า “เราควรจะไปแจ้งข่าวให้สมเด็จพระเจ้าสุทโธทนะทรง
    ทราบการเสด็จมาของพระบรมศาสดา” จึงล่วงหน้ามาแจ้งข่าวเป็นระยะ ๆ ทุก ๆ วัน
    พระเจ้าสุทโธทนะ ได้ถวายภัตตาหารแก่พระเถระแล้ว บรรจุพระกระยาหารอีกส่วน
    หนึ่ง ให้พระเถระนำไปถวายพระพุทธองค์ เป็นประจำทุกครั้งที่พระเถระมาแจ้งข่าว
    ฝ่ายพระประยูรญาติ ทั้งฝ่ายศากยะและฝ่ายโกลิยะ ได้ทราบข่าวว่าพระองค์กำลังเสด็จ
    มาสู่พระนครกบิลพัสดุ์ ก็ปีติโสมนัสเบิกบานอย่างยิ่ง และได้ประชุมปรึกษาหารือตกลงเห็นพ้อง
    ต้องกันว่า อุทยานของพระนิโครธศากยราชกุมารนั้น เป็นรมณียสถานสมควรเป็นที่ประทับของ
    พระบรมศาสดาจึงร่วมกันสร้างพระคันธกุฎี และเสนาสนะที่พักสำหรับภิกษุสงฆ์ลงในที่นั้น
    ถวายเป็นพระอารามในพระพุทธศาสนาชื่อว่า “นิโครธาราม”
    ด้วยเหตุที่ พระกาฬุทายี เป็นทั้งราชทูตของพระเจ้าสุทโธทนะ ไปกราบทูลอาราธนา
    พระบรมศาสดา และเป็นสมณทูตพยายามไปแจ้งข่าวสารการเสด็จมาของพระผู้มีพระภาคต่อ
    พระประยูรญาติเป็นประจำ จนพระประยูรญาติเกิดศรัทธาเลื่อมใสสร้างพระอารามถวายไว้ใน
    พุทธศาสนา นับว่าท่านได้ทำคุณแก่พระประยูรญาติศากยวงศ์ และแก่พระศาสนาอย่าง
    อเนกอนันต์ พระพุทธองค์จึงทรงตั้งท่านในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายใน
    ฝ่าย ผู้นำตระกูลให้เลื่อมใส
    ท่าน พระกาฬุทายีเถระ ดำรงอายุสังขารช่วยกิจการพระพุทธศาสนาพอสมควรแก่กาล
    เวลาแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน
84000.org...::

05-พระปุณณมันตานีบุตรเถระ เอตทัคคะในทางผู้เป็นพระธรรมกถึก


05-พระปุณณมันตานีบุตรเถระ
เอตทัคคะในทางผู้เป็นพระธรรมกถึก

พระปุณณมันตานี เกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล ในหมู่บ้านพราหมณ์โทณวัตถุ อัน
ไม่ห่างไกลจากกรุงกบิลพัสดุ์มากนัก เดิมท่านมีชื่อว่า “ปุณณะ” แต่เนื่องจากมารดาของท่านชื่อ
นางมันตานี คนทั่วไปจึงมักเรียกท่านว่า “ปุณณมันตานีบุตร” และโดยสายเลือดนับว่าท่านเป็น
หลานของพระอัญญาโกณฑัญญะ
พระปุณณมันตานี ได้เข้ามาบวชในพุทธศาสนา โดยการชักนำของ
พระอัญญาโกณฑัญญเถระ ผู้เป็นลุง ในสมัยเมื่อพระพุทธองค์หลังจากทรงจำพรรษาแรกที่ป่า
อิสิปตนมฤคทายวัน พอออกพรรษาแล้วทรงส่งสาวกจำนวน ๖๐ รูป ออกประกาศพระศาสนา
นับว่าเป็นพระธรรมทูตรุ่นแรก พระอัญญาโกณฑัญญะ ก็เป็นอีกรูปหนึ่งในจำนวนนั้นด้วย ท่าน
ได้กลับไปที่บ้านของท่านแสดงธรรมโปรดญาติพี่น้อง ขณะนั้น ปุณณมันตานี บุตรหลานชาย
ของท่านเกิดศรัทธาเลื่อมใสขอบวชในพุทธศาสนา ซึ่งท่านให้บรรพชาเป็นสามเณรไว้ก่อน แล้ว
พาไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าที่กรุงราชคฤห์ พระพุทธองค์ประทานการอุปสมบทให้ เมื่อบวช
แล้วไม่นานอุตสาห์บำเพ็ญเพียร เจริญวิปัสสนากรรมฐานก็ได้บรรลุพระอรหัตผล
  • ปฏิบัติอย่างไรสอนอย่างนั้น
    เมื่อท่านบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว มีปฏิปทาตั้งมั่นอยู่ในคุณธรรม ๑๐ ประการ คือ:-
    ๑ อัปปิจฉตา เรื่องความปรารถนาน้อย
    ๒ สันตุฏฐิตา เรื่องความสันโดษ
    ๓ ปวิเวกตา เรื่องความสงัด
    ๔ อสังสัคคตา เรื่องความไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ
    ๕ วิริยารัมภะ เรื่องความเพียร
    ๖ สีลตา เรื่องศีล
    ๗ สมาธิ เรื่องสมาธิ
    ๘ ปัญญา เรื่องปัญญา
    ๙ วิมุตติ เรื่องความหลุดพ้น
    ๑๐ วิมุตติญาณทัสนะ เรื่องความรู้ความเห็นว่าหลุดพ้น
คุณธรรม หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กถาวัตถุ ๑๐ ประการนี้กล่าวสั้น ๆ ก็คือ มักน้อย
สันโดษ ชอบสงัด ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ ปรารภความเพียร บริบูรณ์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา
วิมุตติ วิมุตติญาณทัสนะ ท่านพระปุณณมันตานีบุตรเถระ จะสั่งสอนบริษัทบริวารของท่านด้วย
คุณธรรม ๑๐ ประการนี้ จากท่านจนได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน ด้วยเหตุนี้ ภิกษุผู้เป็นศิษย์ของ
ท่านไม่ว่าจะไปสู่ที่ใด ๆ ก็จะพากันกล่าวยกย่องพรรณนาคุณของพระปุณณมันตานีบุตรเถระ ผู้
เป็นพระอุปัชฌาย์ของตน ให้ปรากฏแก่พุทธบริษัทในที่นั้น ๆ เสมอ แม้พระสารีบุตรเถระ ได้
ทราบข่าวคุณธรรมของท่านแล้ว ก็มีความปรารถนาจะได้สนทนาธรรมกับท่าน
  • สนทนาธรรมกับพระสารีบุตร
    สมัยหนึ่ง สมเด็จพระผู้มีพระภาคเสด็จมายังเมืองสาวัตถี ณ ที่นั้นพระสารีบุตรกับพระ
    ปุณณมันตานีบุตร ได้มีโอกาสพบกัน พระสารีบุตรได้สนทนาไต่ถามท่านเกี่ยวกับวิสุทธิ
    ๗ ประการ อันได้แก่:-
    ๑ ลีลวิสุทธิ ความหมดจดแห่งศีล
    ๒ จิตตวิสุทธิ ความหมดจดแห่งจิต
    ๓ ทิฏฐิวิสุทธิ ความหมดจดแห่งทิฏฐิ
    ๔ กังขาวิตรณวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องข้ามพ้นความสงสัย
    ๕ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นว่า หรือมิใช่ทาง
    ๖ ปฏิปาญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นทางปฏิบัติ
    ๗ ญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณทัสสนะกล่าวคือมรรคญาณ
    พระปุณณมันตานีบุตร ได้ถวายคำอธิบายว่า วิสุทธิ ๗ นี้ ย่อมเป็นปัจจัยอาศัยส่งต่อกัน
    ไปจนถึงพระนิพพาน ท่านเปรียบเหมือน ๗ คัน ที่ส่งต่อ ๆ พลัดกันไปโดยลำดับ
    เมื่อการสนทนาไต่ถามกันและกันจบลง พระเถระทั้งสองต่างก็กล่าวอนุโมทนาคุณกถา
    ของกันและกัน และแยกกันกลับสู่ที่พักของตน
    เพราะความที่พระปุณณมันตานีบุตรเถระ ท่านดำรงต้นตั้งมั่นอยู่ในคุณธรรมเช่นไร ก็
    สั่งสอนบรรดาศิษย์และพุทธบริษัทอื่น ๆ ให้ดำรงอยู่ในคุณธรรมนั้นด้วย
    พระผู้มีพระภาค จึงทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ใน
    ทาง ผู้เป็นพระธรรมกถึก
    พระปุณณมันตานีบุตรเถระ ดำรงอายุสังขาร ช่วยกิจการพระศาสนาพอสมควรแก่กาล
    เวลาแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน
84000.org...::

แสวงบุญดินแดนพุทธภูมิ อินเดีย เนปาล กราบนมัสการองค์ดาไลลามะ ทิเบต

๑๙ มกราคม - ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ หลักสูตร ป.เอก  สาขาวิชาพุทธจิตวิทยา รุ่นที่ ๗  คุณะมนุษยศาสตร มจร  พระนครศรีอยุธยา ศึกษาดูงาน ต่าง...