วันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2562

ปริวาสกรรม วิปัสสนากัมมัฏฐาน 2562






 ปริวาส

การอธิบายวิธีการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน 
                    ดังได้กล่าวแล้วว่า การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน คือ การเจริญสติปัฏฐาน 4 นั่นเอง วิปัสสนากรรมฐาน หมายถึง ที่ตั้งแห่งการกระทำที่เป็นปัจจัยให้เกิดการเห็นแจ้ง การเห็นพิเศษ และการเห็นโดยอาการต่าง ๆ มีความไม่เที่ยง*เป็นต้น  ภูมิธรรมที่เป็นอารมณ์ของวิปัสสนามี 6 อย่างคือ ขันธ์ 5  อายตนะ 12  ธาตุ 18  อินทรีย์ 22  อริยสัจจ์ 4  และปฏิจจสมุปบาท 12  ซึ่งทั้งหมดย่อลงเหลือรูปนาม 
การกำหนดรู้ตามอาการนั้น ผู้ปฏิบัติใหม่จำเป็นต้องใช้คำภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นสื่อให้เกิดความตั้งมั่น (ขณิกสมาธิ) คำภาวนาต่าง ๆ ไม่ควรจะยาวหรือสั้นเกินไป จำนวนพยางค์ที่เหมาะสมสำหรรับการกำหนด คือ การใช้อักษรเพียง 2 พยางค์ ซึ่งช่วงระยะของการกำหนดพอดีกับที่อาการสิ้นสุดลง พร้อมที่อาการใหม่จะปรากฏขึ้นให้กำหนดครั้งใหม่อีก
จากอุบายนี้อาจารย์ ภัททัน อาสภเถระ เขียนไว้ในหนังสือวิปัสสนาทีปนีฎีกาถึงเหตุที่เลือกคำว่า หนอ ต่อท้าย ผสมเข้ามาในการกำหนดภาวนาขณะเดินจงกรมและนั่งสมาธิ เช่น พองหนอ ยุบหนอ  เพราะคำว่า “หนอ” จัดว่าเป็นคำสุภาพ ไม่หยาบคาย หรือไม่น่ารังเกียจ เหมือนคำอื่นบางคำ และนอกจากนี้สามารถใช้เป็นสื่อของการฝึกในใจให้ทันกับกิริยาอาการที่กำลังกระทำอยู่หรือกำลังรู้อยู่
  พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ) เคยเทศน์อธิบายสรุปความคำว่า หนอ ที่นำมาประกอบคำภาวนานั้น หมายถึง “สักแต่ว่า” เช่น เห็นหนอ หมายถึง สักแต่ว่าเห็น เมื่อเห็นแล้วก็ไม่ได้มีจิตใจผูกพันเกาะเกี่ยว สิ่งที่เห็นเป็นเพียงรูป การรู้ในใจเป็นนาม แต่การกำหนดรูปนามนั้นยังช้าไป หากใช้คำว่า หนอ จะเกิดสติรู้ได้เท่าทันเร็วกว่า หรืออย่างคำว่า เจ็บหนอ ก็หมายถึง สักแต่ว่าเจ็บ
ทั้งนี้ย่อมโยงไปถึงความเข้าใจที่ว่า ความเจ็บย่อมมีกับแต่ละบุคคลเป็นธรรมดา จะได้ไม่ถือมั่น ไม่ใส่ใจ ความเจ็บจิตมุ่งจะเข้าสู่สภาวธรรมที่เกิดขึ้น จึงเป็นวิถีทางที่จะทำให้มีความเจริญหน้าในการปฏิบัติขั้นสูงต่อไปได้ (วริยา ชินวรรโณ และคณะ 2537 : 252)
                    พระครูประคุณสรกิจ (2537 : 46) กล่าวถึง ประโยชน์ 8 ประการ ของคำว่า หนอ ที่ต่อท้าย  คือ 
                    1.     ทำให้เกิดสังเวชได้ง่าย
                    2.     ทำให้เกิดสมาธิได้เร็ว
                    3.     เพิ่มกำลังของขณิกสมาธิ ได้แก่ กล้าได้ง่าย
                    4.     ให้รู้ปัจจุบันได้เร็ว
                    5.     สติที่เกิดสามารถกำหนดรูปนามได้ชัด
                    6.     คั่นรูปนามให้ขาดระยะ
                    7.     ทำให้แยกรูปนามออกจากกันได้ง่าย
                    8.     ทำให้ไตรลักษณ์ปรากฏชัด  
3.1       เรื่องพอง - ยุบ
                    เป็นที่ทราบกันว่า การเจริญวิปัสสนาตามพระพุทธประสงค์ ก็คือ การกำหนดรูปนามเป็นอารมณ์ ถ้าผิดจากการกำหนดรูปนามเสียแล้ว ก็หาใช่วิปัสสนากรรมฐานไม่ การกำหนดรูปที่เป็นอารมณ์ของวิปัสสนานั้น ถ้ากำหนดรูปใหญ่ไม่ได้ผลหรือได้ผลน้อย ก็ให้กำหนดรูปละเอียด รูปที่ละเอียด ได้แก่ รูปที่ลมหายใจกระทบ คือ ลมหายใจเข้า-ออกไปกระทบที่ใดก็ให้กำหนดที่นั้น 
ในที่นี้สถานที่ที่ลมหายใจถูกต้องอยู่เสมอมีอยู่ 2 แห่ง คือ ที่จมูกและที่บริเวณท้อง ในที่ 2 แห่งนั้น จมูกเป็นส่วนที่กำหนดได้ชัดเจนเฉพาะในระยะเริ่มแรกเท่านั้น ครั้นกำหนดนานเข้าจนลมละเอียดแล้ว การกระทบจะปรากฏไม่ชัดเจนและสังเกตยาก ส่วนที่บริเวณหน้าท้องซึ่งมีอาการพอง-ยุบนั้น สามารถกำหนดได้ชัดเจนสม่ำเสมอ ถึงจะนานเท่าใดหรือลมหายใจละเอียดเพียงใดก็กำหนดได้ และแสดงสภาวะได้ชัดเจนกว่าการกระทบที่บริเวณจมูก ฉะนั้นรูปที่ลมถูกต้องที่บริเวณหน้าท้อง คือ อาการพองขึ้นและยุบลง จึงเหมาะแก่การตั้งสติกำหนดเพื่อเจริญวิปัสสนากรรมฐาน (ธนิต  อยู่โพธิ์ 2518 : 26) 
                    อาการเคลื่อนไหวของหน้าท้อง  ที่เกิดจากลมหายใจ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วาโยโผฏฐัพพะรูป (รูปที่ลมกระทบถูกต้อง) เป็นปรมัตถ์สภาวะ ที่เกี่ยวเนื่องด้วยการเคลื่อนไหวเพราะมีวาโยธาตุ ในสังยุตตนิกาย กล่าวไว้ว่า“โผฏฐัพฺเพ อนิจฺจโต ชานโต ปสฺสโต อวิชฺชา ปหิยติ วิชฺชา อุปฺปชฺชาติ”“โยคีบุคคลที่โผฏฐัพพารมณ์ถูกต้องสัมผัสนั้น ตั้งสติกำหนดรู้เห็นอยู่ว่าไม่เที่ยง บุคคลนั้นอวิชชาหายไป วิชชาญาณปรากฏ”
ท่านมหาสี สะยาดอ (พระโสภณ มหาเถระ) แสดงไว้ในวิสุทธิญาณกถา ว่า“อภ วา ปน นิสินฺนสฺส โยคิโน อุทเร อสฺสาสปสฺสาสปจฺจยา ปวตฺตํ วาโยโผฏฐัพฺพรูปํ อุนฺนมนโอนมนากาเรน นิรนฺตรํ ปากฏฺ โหติ ตมฺปิ อุปนิสฺสายอุนฺนมํติ โอนมติ อุนฺนมติ โอนมตี-ติ อาทินา สลฺลกฺเขตพฺพํ”“โยคีบุคคลเมื่อนั่งลงแล้ว ในบริเวณท้องนั้น อัสสาสะปัสสาสะวาโยธาตุเป็นเหตุเป็นปัจจัย วาโยโผฏฐัพพรูปนี้ปรากฎชัดเจนอยู่เสมอ ในขณะนั้นพึงตั้งสติกำหนดเจริญวิปัสสนา ภาวนาว่า พองหนอ-ยุบหนอ พองหนอ-ยุบหนอ” 
                    จากการสัมภาษณ์ พระมหาภาณุวัฒน์ ปิยสีโล พรรษา 63 ปี  เป็นอาจารย์สอนพระอภิธรรมอยู่ที่ อภิธรรมโชติกะวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า“เคยปฏิบัติพองหนอ-ยุบหนอ กับพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ) อาจารย์บอกเพียงให้สังเกตอาการที่ท้องพองขึ้น-ยุบลง ช่วงนั้นยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม พอมาเรียนอภิธรรมจึงรู้ว่า ขณะหายใจเข้า ลมที่เข้าไปจะดันให้ท้องพองขึ้น ขณะหายใจออกลมที่ออก มีผลให้ท้องยุบลง อาการพองออกและยุบลงเป็นรูปธรรม ลมที่ดันให้ท้องพองออกหรือยุบลงก็เป็นรูปธรรม แต่จิตที่เป็นตัวรู้อาการนั้นเป็นนามธรรม
พูดรวม ๆ ว่าจิตรู้ ขณะที่รู้อาการนั้นมีธรรมอยู่ 5 อย่าง คือ ปัญญา วิตก วิริยะ สติ สมาธิ ในสติปัฏฐานยกมากล่าว 3 อย่าง คือ สติ ปัญญา วิริยะ ที่เรากำหนดอยู่ได้ เพราะมีความเพียร (วิริยะ) เกิดขึ้น สติเป็นตัวรู้ว่าขณะนี้กำลังทำอะไร ส่วนปัญญาเป็นตัวตัดสิน สิ่งที่กำลังปรากฏอยู่ว่าเป็นรูปหรือนาม
ส่วนธรรมอีก 2 อย่าง คือ วิตก และสมาธิ ไม่กล่าวถึงแต่ต้องร่วมด้วย เพราะปัญญาไม่สามารถพิจารณาสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ด้วยตนเอง ต้องอาศัยวิตกเป็นตัวเสนออารมณ์ให้ปัญญา คือ ทำงานพร้อมกัน แต่หน้าที่ต่างกัน พอง-ยุบ เป็นบัญญัติอารมณ์ แต่ลึกลงไป คือ รูปธรรมและนามธรรม ซึ่งเป็นปรมัตถ์ คิดว่าปฏิบัติโดยใช้พองหนอ-ยุบหนอ  กับการกำหนดรูป-นาม สามารถปรับเข้ากันได้” 
3.2       การเดินจงกรม
                    ตามปกติคนเราโดยทั่วไปจะเดินช้าหรือเร็วก็ตาม ย่อมก้าวเท้าเดินไปตามระยะหรือจังหวะ ไม่ปรากฏว่ามีใครเคยกำหนดว่าก้าวหนึ่ง ๆ มีกี่ระยะ หรือกี่จังหวะ และไม่เคยกำหนดซ้าย-ขวาในการก้าวย่าง นอกจากทางการทหาร ซึ่งมีความมุ่งหมายไปอีกทางหนึ่ง ต่างจากความมุ่งหมายในการปฏิบัติธรรม
                    อิริยาบถเดินเป็นอาการเคลื่อนไหวทางกายอย่างหนึ่ง สามารถเป็นสื่อให้จิตเกิดความตั้งมั่นได้เช่นกัน แนวทางในการปฏิบัติเบื้องต้น คือ ความตั้งใจในการเดินไปและกลับในจังหวะต่าง ๆ ตามระยะทางที่กำหนดไว้ เรียกว่า เดินจงกรม
                    วิปัสสนาจารย์บางท่านนำเอาระยะหรือจังหวะมาแบ่งเป็นขั้นตอน โดยกำหนดให้เดินเป็นระยะหรือเป็นจังหวะ รวมแล้วมี 6 ระยะ เข้าใจว่าคงอนุโลมตามการแบ่งการก้าวครั้งหนึ่งออกเป็น 6 ส่วน (ธนิต  อยู่โพธิ์ ; 2518 : 22) เพื่อสะดวกในการปฏิบัติเป็นขั้น ๆ ดังนี้
จงกรม 1 ระยะ  ซ้ายย่างหนอ - ขวาย่างหนอ
จงกรม 2 ระยะ  ยกหนอ - เหยียบหนอ
จงกรม 3 ระยะ ยกหนอ - ย่างหนอ - เหยียบหอ
จงกรม 4 ระยะ  ยกซ่นหนอ - ยกหนอ - ย่างหนอ - เหยียบหนอ
จงกรม 5 ระยะ  ยกซ่นหนอ - ยกหนอ - ย่างหนอ - ลงหนอ - ถูกหนอ
จงกรม 6 ระยะ  ยกซ่นหนอ - ยกหนอ - ย่างหนอ - ลงหนอ - ถูกหนอ - กดหนอ 
                    ในการฝึกนั้นให้ฝึกไปทีละขั้น มิใช่ว่าเดินทุกระยะตั้งแต่ 1 ถึง 6 ระยะในคราวเดียวกัน หากแต่เริ่มฝึกจาก 1 ระยะก่อน คือ เดินอย่างช้า ๆ เป็นขั้น ๆ ไปตามวิธีเดินจงกลม จะก้าวเท้าซ้ายหรือเท้าขวาก่อนก็ได้ ตั้งสติกำหนดในใจตามไปพร้อมกับก้าวเท้าให้เป็นปัจจุบัน เช่น ขณะยกเท้าซ้ายก้าวไปจนวางเท้าลงกับพื้น ก็ตั้งสติกำหนดแต่แรกเริ่มยกเท้าช้า ๆ ว่า ซ้าย-ย่าง-หนอ พอเท้าเหยียบกับพื้นก็ลงคำว่า หนอพอดี ขณะยกเท้าขวาก้าวไปจนวางเท้าลงกับพื้น ก็ตั้งสติกำหนดว่า ขวา-ย่าง-หนอ ทำให้ทันกันเช่นนี้ทุกครั้งที่ก้าวออก   มิใช่ก้าวเท้าไปก่อนแล้วจึงกำหนดตาม หรือกำหนดไว้ก่อน  แล้วจึงก้าวเท้า เป็นต้น 
                    เมื่อจงกรมจนสุดทางด้านหนึ่งแล้ว หยุดยืนให้กำหนดในใจว่า “ยืนหนอ” 3 ครั้ง เมื่อจะกลับตัวให้กำหนดว่า “อยากกลับหนอ” 3 ครั้ง แล้วค่อย ๆ หันตัวกลับช้า ๆ พร้อมกับกำหนดว่า “กลับหนอ” 3 ครั้ง จนหันตัวกลับเสร็จแล้วจึงเดินจงกลมพร้อมกับกำหนดต่อไป เพื่อให้จิตคงที่อยู่กับอิริยาบถ เมื่อกำหนดระยะที่ 1 จนชำนาญแล้ว วันต่อไปจึงเปลี่ยนเป็นระบบ 2-3-4-5-6 ตามลำดับ ทั้งนี้สติจะต้องเร็วขึ้นตามรายละเอียดของอาการปรากฎที่บริเวณส่วนต่าง ๆ ของฝ่าเท้า  การเดินจงกรมและกำหนดรู้ตัวอยู่เสมอดังนี้ เป็นการฝึกหัดปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐานในหมวดอิริยาบถบรรพพะที่ว่า  “คจฺฉนฺโต วา คจฺฉามีติ ปชานาติ”  “เมื่อเดินอยู่ก็กำหนดรู้ว่า ข้าพเจ้าเดินอยู่”
                     สติจะต้องตามกำหนดรู้ในทันพอดีกับอิริยาบถ อย่าให้ช้าหรือเร็วเกินไป ขณะที่เดินถ้ามีสิ่งใดมากระทบทวารต่าง ๆ หรือเกิดเวทนาคิดเกิดธรรมใด ๆ ขึ้นมาให้มีสติตามกำหนดรู้ให้ทันกำหนดครั้งเดียว แล้วจึงกำหนดเดินต่อไป ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาจะต้องเริ่มจากเดินจงกลมทุกครั้ง ๆ ละประมาณ 15-30 นาที ก่อนที่จะนั่งสมาธิ 
3.3       การนั่งสมาธิ
                    เมื่อเดินจงกรมไปจนครบเวลาที่กำหนดแล้ว ให้เตรียมจัดอาสนะสำหรับนั่งไว้ เวลาจะนั่งให้ค่อย ๆ ย่อตัวลง พร้อมกับภาวนาว่า นั่งหนอ นั่งหนอ... ภาวนาเรื่อยไปจนกว่าจะนั่งเสร็จเรียบร้อย ให้นั่งขัดสมาธิ ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ตั้งตัวให้ตรง อาจจะนั่งเก้าอี้หรือนั่งพับเพียบก็ได้ (พระธรรมธีรราชมหามุนี 2538 : 6-7)
                    เมื่อนั่งเรียบร้อยแล้วให้หลับตา เอาสติมาจับอยู่ที่ท้อง เวลาหายใจเข้าท้องพองให้ภาวนาว่า พองหนอ ใจที่นึกกับท้องที่พองต้องให้ทันกันพอดี อย่าให้ก่อนหรือหลังกว่ากัน เวลาหายใจออกท้องยุบให้ภาวนาว่า ยุบหนอ ใจที่นึกกับท้องที่ยุบต้องให้ทันกันเช่นกัน สิ่งสำคัญคือ ให้สติจับอยู่ที่อาการพอง-ยุบเท่านั้น อย่าไปดูลมที่จมูกและอย่าตะเบ็งท้อง ให้นั่งภาวนาเช่นนี้ประมาณ 15-30 นาที เท่ากับเวลาเดินจงกรม การนั่งกำหนดพอง-ยุบ จะแบ่งเป็นระยะเช่นกัน รวมแล้ว 4 ระยะ คือ 
นั่งกำหนด 2 ระยะพองหนอ - ยุบหนอ
นั่งกำหนด 3 ระยะพองหนอ - ยุบหนอ - นั่งหนอ
นั่งกำหนด 4 ระยะ
พองหนอ - ยุบหนอ - นั่งหนอ - ถูกหนอ
คำ ถูกหนอ นี้ หมายถึง ให้ทำความรู้สึกไปที่บริเวณต่าง ๆ ของร่างกายที่สัมผัสกับพื้น รวม 6 แห่ง คือ
                            1.     พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกต้อง (ถูกก้นย้อยข้างขวา)
                            2.     พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกต้อง (ถูกก้นย้อยข้างซ้าย)
                            3.     พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกต้อง (ถูกเข่าข้างขวา)
                            4.     พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกต้อง (ถูกเข่าข้างซ้าย)
                            5.     พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกต้อง (ถูกตาตุ่มข้างขวา)
                            6.     พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกต้อง (ถูกตาตุ่มข้างซ้าย) 
                    ส่วนการนอนกำหนดก็มี 4 ระยะเช่นกัน คือ พองหนอ - ยุบหนอ - นอนหนอ - ถูกหนอ ในการกำหนดถูกหนอนั้น ให้กำหนดส่วนของร่างกายที่สัมผัสกับที่นอน เช่น ศีรษะ สะโพก ขา เป็นต้น
                    ในขณะที่นั่งกำหนดอยู่นั้น ถ้าเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น เช่น เจ็บ ปวด เมื่อย คัน เป็นต้น ให้ปล่อยพอง-ยุบ แล้วเอาสติไปกำหนดบริเวณที่เจ็บ ปวด เมื่อย คัน พร้อมกับภาวนาว่า เจ็บหนอ ๆ หรือ ปวดหนอ ๆ สุดแต่เวทนาใดเกิดขึ้น เมื่อเวทนาหายแล้วให้กลับไปพิจารณาพองหนอ-ยุบหนอใหม่ จนกว่าจะครบกำหนดเวลา
                    ถ้าจิตคิดถึงบ้าน คิดถึงรายได้ หรือคิดถึงกิจการงานที่ค้างอยู่ ให้กำหนดว่า คิดหนอ ๆ จนกว่าจะหยุดคิด เมื่อหยุดคิดแล้วให้กลับไปกำหนดพองหนอ-ยุบหนอต่อไป เช่น นึกถึงภูเขาทอง ก็ให้อยู่แค่นึกเท่านั้น อย่าเลยไปถึงภูเขาทอง พอรูปภูเขาทองผ่านเข้ามาทางความคิด (มโนทวาร) ให้กำหนด รู้หนอ ๆ เท่านั้น ไม่ให้วิจารณ์ต่อไป เพราะวิปัสสนาให้รู้แล้วทิ้ง มิใช่ว่ารู้แล้วจำไว้  แม้ดีใจ เสียใจ โกรธ ก็ให้กำหนดเช่นเดียวกัน คือ ดีใจหนอ ๆ  เสียใจหนอ ๆ  โกรธหนอ ๆ  รู้หนอ ๆ จนกว่าความโกรธนั้นจะหายไป เป็นต้น  ส่วนการกำหนดอารมณ์ทางทวารอื่น ๆ มีวิธีการดังนี้ 
                            เวลาตาเห็นรูปให้กำหนดว่า             เห็นหนอ ๆ         ตั้งสติไว้ที่ตา
                            เวลาหูได้ยินเสียงให้กำหนดว่า        ได้ยินหนอ ๆ         ตั้งสติไว้ที่หู
                            เวลาจมูกได้กลิ่นให้กำหนดว่า         กลิ่นหนอ ๆ          ตั้งสติไว้ที่จมูก
                            เวลาลิ้นรู้รสให้กำหนดว่า                 รสหนอ ๆ           ตั้งสติไว้ที่ลิ้น 
                    เวลากายถูกความเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ให้กำหนดว่า ถูกหนอ ๆ ตั้งสติไว้ตรงที่ถูก  หลังจากกำหนดอารมณ์ต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบข้างต้นแล้ว ให้กลับไปกำหนดอารมณ์หลัก คือ พองหนอ - ยุบหนอ ต่อไป
 
3.4       การผลัดเปลี่ยนอิริยาบถและการกำหนดต้นจิต 
                    ในอิริยาบถอื่น ๆ ก็ให้มีสติสัมปชัญญะกำกับอยู่ตลอดเวลา เช่น เวลารับประทานอาหารก็ควรรับประทานอย่างช้า ๆ กำหนดไปทุกระยะ เช่น ตักหนอ (ช้อนตักอาหาร) ยกหนอ (มือส่งอาหารเข้าปาก) เคี้ยวหนอ (ขณะเคี้ยว) รสหนอ (เมื่อรสปรากฏ) ฯลฯ หรือเวลาขับถ่ายปัสสาวะ อุจจาระ อาบน้ำชำระร่างกาย เหลียวซ้าย แลขวา คู้เข้า เหยียดออก ก้ม เงย ก็ให้มีสติเสมอ มิให้ขาดระยะเช่นกัน เวลาพูดให้ระวังก่อนจะพูดให้กำหนดรู้ว่าจะพูด อย่าพูดติดต่อกันนาน พูดสัก 5-6 คำ หรือ 7-8 คำ ให้หยุดตั้งสติ แล้วพูดต่อไป ให้พูดช้า ๆ เป็นการดี 
การกำหนดต้นจิต
               ต้นจิต คือ ความอยากนั่นเอง เช่น อยากลุก อยากนั่ง อยากนอน เป็นการฝึกจิตให้อยู่กับอาการเคลื่อนไหวและอิริยาบถต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อฝึกหัดให้เป็นคนมีสติสัมปชัญญะมากขึ้น (ธนิต อยู่โพธิ 2518 : 57) เช่น ขณะนั่งอยู่ ก็กำหนดรู้ตัวว่านั่งอยู่ และถ้าจะลุกขึ้น ก่อนจะลุกขึ้นยืนให้กำหนดว่า อยากลุกหนอ ๆ ๆ (3 ครั้ง)  ขณะลุกก็ควรเคลื่อนไหวช้า ๆ และกำหนดไปตามอาการและอิริยาบถ โดยกำหนดไปพร้อมกันว่า ลุกหนอ ๆ ๆ (3 ครั้ง) ขณะยืนกำหนดว่า ยืนหนอ ๆ ๆ จะงอแขนเข้ามาให้กำหนดว่า อยากคู้หนอ ๆ ๆ (3 ครั้ง) เมื่องอแขนแล้วกำหนดว่า คู้หนอ ๆ ๆ (3 ครั้ง) เป็นต้น ผู้ปฏิบัติใหม่ส่วนมากมักจะเคลื่อนไหวหรือเปลี่ยนอิริยาบถไปโดยมิได้กำหนดรู้ไว้ก่อน แต่นึกได้ภายหลังบ้าง บางครั้งกำหนดสับสนไปบ้าง ทั้งนี้หากไม่ท้อถอยและพากเพียรในการฝึกหัดต้นจิตนี้อย่างสม่ำเสมอ สติจะค่อย ๆ มั่นคงขึ้นเป็นพื้นฐานแก่การกำหนดขั้นสูงต่อไป
 จากการสอบถามถึงวิธีการสอนกรรมฐาน ดร.พระมหาพิธูร วิธุโร อธิบายว่า 
“ในการสอนกรรมฐาน นำมาจากมหาสติปัฏฐานทั้ง 4 หมวด เช่น หมวดกาย ให้พิจารณาความเคลื่อนไหวร่างกาย เดิน ยืน นั่ง นอน รวมทั้งความเจ็บปวด (เวทนา) ความคิด (จิต) ความง่วง (ธรรม) ซึ่งก็คือ สติปัฏฐาน 4 นั่นเอง แต่ไม่ได้เรียกอย่างนั่น ถ้าถามว่าปฏิบัติแบบใด ก็ต้องบอกว่าแบบพองหนอ-ยุบหนอ หนอเป็นคำที่เสริมเข้ามา เพื่อเพิ่มสมาธิให้มากขึ้น คำพูดนั้นไม่สำคัญ ที่สำคัญคือ ให้มีสติกำหนดรู้ ส่วนจำนวนครั้งที่ให้กำหนด 3 ครั้งนั้น จริง ๆ แล้วก็ไม่จำเป็น แต่โดยทั่วไปแล้วเราชอบพูดอะไรให้เป็น 3 ครั้ง เพื่อเพิ่มความหนักแน่น เช่น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นต้น” 
                    ดังได้กล่าวแล้วว่า อินทรีย์ 5 และพละ 5 เป็นธรรมที่มีอุปการะมากในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน การปรับอินทรีย์และพละให้เสมอกันเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ปฏิบัติจะได้รับคำสอนและการอบรมจากท่านวิปัสสนาจารย์เป็นระยะ ๆ ในที่นี้มีการสอนเกี่ยวกับอิริยาบถ 2 อย่าง คือ เดินจงกรม และการนั่งสมาธิ 
                    การเดินจงกรม เป็นการทำความเพียรอย่างหนึ่ง แม้จะมีสมาธิอยู่บ้าง แต่ก็หนักไปทางวิริยะ ส่วนการนั่งกำหนดกรรมฐาน เป็นการบำเพ็ญสมาธิอย่างหนึ่ง แม้จะมีความเพียรประกอบ แต่ก็หนักไปทางสมาธิ อินทรีย์ทั้งสอง (วิริยะกับสมาธิ) ต้องปฏิบัติให้เสมอกัน  ถ้าเดินจงกรมตลอดเวลาเท่าใด เช่น 15 นาที 30 นาที 45 นาที หรือ 1 ชั่วโมง ก็ควรนั่งกำหนดภาวนาตลอดเวลาเท่ากันกับการเดินจงกรม เมื่อมีวิริยะในการเดินจงกรมและมีสมาธิในการนั่งกำหนด ปัญญาที่เรียกว่า “ญาน” ก็จะเกิดขึ้นด้วยการรู้เห็นตามเป็นจริง มีพระพุทธพจน์กล่าวว่า
“นตฺถิ ฌานํ อปญฺญสฺส,  นตฺถิ ปญฺญา อฌายิโน”
การกำหนดสภาวะไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา ปัญญาไม่มีแก่ผู้ไม่กำหนด 
เมื่อผู้ปฏิบัติพากเพียรกำหนด พองหนอ - ยุบหนอ - นั่งหนอ - ถูกหนอ หรือซ้ายย่างหนอ - ขวาย่างหนอ ด้วยใจสงบ มีขณิกสมาธิติดต่อกันอยู่ได้นาน ผู้ปฏิบัติจะจำแนกได้ว่า “พอง-ยุบ-นั่ง-ถูก” นั้น เป็นรูป คือ วาโยโผฏฐัพพรูป  และการกำหนดรู้เป็นนาม คือ รู้อาการ พอง-ยุบ นั่ง-ถูก
เมื่อรวม ความรู้อาการ พอง-ยุบ-นั่ง-ถูก ซึ่งเป็นรูป กับ การกำหนด อาการซึ่งเป็นนาม เรียกว่า นามรูปปริจเฉทญาณ ทั้งนี้คงเห็นแต่ฐิติขณะ คือ การตั้งอยู่ของนามและรูปเท่านั้น ไม่เห็นอุปปาททขณะ (ขณะเกิดขึ้น) และภังคขณะ (ขณะดับลง) เป็นญาณขั้นต้น ซึ่งเป็นความรู้โดยการเห็นประจักษ์ด้วยประสบการณ์จากการปฏิบัติของตนเอง หากปฏิบัติต่อไปจนญาณนี้แก่กล้าขึ้น จะรู้ว่าในขณะหายใจเข้ามีแต่อาการพองของท้องเท่านั้น ในเวลาหายใจออกก็จะมีแต่อาการยุบของท้องเท่านั้น
อาการพองกับใจที่รู้สึกเกิดพร้อมกัน แต่เป็นคนละส่วนกัน ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า อัตตา เป็นผู้สั่งหรือบงการให้เป็นอย่างนั้น คงมีแต่รูปซึ่งเป็นอารมณ์ และนามซึ่งเป็นผู้รู้อารมณ์เท่านั้น การรู้อย่างนี้เรียกว่า นามรูปปริจเฉทญาณ จัดอยู่ใน ทิฏฐิวิสุทธิ์
ในคัมภีร์วิสุทธิมัรรค กล่าวไว้ว่า “ความเห็นนามและรูปตามที่เป็นจริง อันครอบงำเสียซึ่งสัตตสัญญา (คือสำคัญว่ามีสัตว์มีบุคคล) ได้แล้ว ตั้งอยู่ในอสัมโมหภูมิ (คือภูมิของความไม่หลงงมงาย) ชื่อว่า ทิฏฐิวิสุทธิ และยังมีชื่อเรียกหลายอย่าง เช่น นามรูปววัฏฐาน คือ การกำหนดนามรูปก็ได้ เรียกว่า สังขารปริจเฉท คือ การกำหนดสังขารก็ได้”
                    ถ้าผู้ปฏิบัติมีความพากเพียรต่อไป ด้วยการกำหนดนามและรูปโดยอาการ 2 ขณะ คือ ขณะเกิดขึ้น (อุปาทขณะ) เมื่ออาการพองขึ้นของท้องก็รู้ และขณะตั้งอยู่ (ฐิติขณะ) แห่งอาการพองขึ้นของท้องก็รู้ (แต่ไม่รู้ถึงภังคขณะ คือ อาการที่ท้องยุบลง) การรู้อย่างนี้เรียกว่าปัจจยปริคหญาณ คือ รู้เหตุและปัจจัยของนามและรูป เช่น อาการพองเกิดขึ้นก็กำหนดรู้ว่าพองเกิดขึ้น อาการพองเป็นรูป การกำหนดรู้เป็นนาม อาการพองเป็นเหตุ รู้อาการพองเป็นผล เมื่อจะคู้แขนหรือเหยียดออก การกำหนดใจ จะคู้หรือเหยียดเป็นนามและเป็นเหตุ อาการคู้หรือเหยียด เป็นรูปและเป็นผล
การกำหนดรู้เหตุพร้อมทั้งผล หรือรู้ผลพร้อมทั้งเหตุนี้เรียกว่า สปัจจยปริคหญาณ(ธนิต  อยู่โพธิ 2518 : 68-69)
                    ทั้งนามรูปปริจเฉทญาณและปัจจยปริคหญาณนี้ ยังไม่นับเป็นวิปัสสนาญาณ แต่จะเป็นบาทเบื้องต้นที่จะให้เกิดสัมมสนญาณ อันเป็นเขตของวิปัสสนาญาณโดยแท้จริงต่อไป ผู้ปฏิบัติที่สามารถรู้ว่ารูปนามทั้งสองนั้นเป็นเหตุเป็นผล เป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน คือ บางครั้งรูปเป็นเหตุ นามเป็นผล บางครั้งนามเป็นเหตุ รูปเป็นผล หาใช่ตัวตน สัตว์ บุคคลไม่ เช่นนี้ย่อมข้ามพ้นความสงสัยในนามรูปได้ เรียกว่า กังขาวิตรณวิสุทธิ แม้จะยังไม่เห็นไตรลักษณ์ในนามรูป แต่ความเห็นผิดว่ามีตัวตนจะเบาบางลงมาก ในคัมภีร์วิสุทธิมัคค์ กล่าวถึงอานิสงส์ของญาณนี้ไว้ว่า                
“อิมานา ปน ญาเณน สมนฺนาคโต วิปสฺสโก พุทฺธสาสเน ลทฺธสฺสาโส
ลทฺธปติฏโฐ นิจตคติโก จูลโสตาปนฺโน นามโหติ ฯ”
“อันผู้เจริญวิปัสสนาประกอบแล้วด้วยญาณดังกล่าวนี้ เป็นผู้ได้ความเบาใจแล้ว ได้ที่พึ่งในพระพุทธศาสนาแล้ว ชื่อว่า จุลโสดาบัน เป็นผู้มีคติ คือ ภูมิที่ไปเที่ยงแท้แน่นอน”  พระธรรมปาละเถระ ผู้แต่งคัมภีร์ปรมัตถมัญชุสามหาฎีกา อธิบายข้อความเพิ่มเติมว่า
“ผู้ปฏิบัติที่บรรลุถึง (กังขาวิตรณวิสุทธิ) ญาณนี้แล้ว มีคติที่เที่ยงแท้ในชาติหน้าซึ่งต่อจากชาตินี้จะไปสู่สุคติ สามารถปิดอบายภพเสียได้ แต่ในชาติที่ 3 ต่อไปนั้นไม่แน่นอน จะปิดอบายภพได้อย่างแน่นอน คือ ชาติที่ 2 เท่านั้น ถ้าต้องการปิดแน่นอนต้องบำเพ็ญความเพียรเจริญวิปัสสนากรรมฐานต่อไป จนกระทั่งบรรลุอริยมรรค อริยผล ดังนี้” 
                   จากงานวิจัยส่วนภาคสนามเรื่องวิวัฒนาการการตีความคำสอนเรื่องสมาธิ ในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทไทย วริยา  ชินวรรโณ และคณะ (2537 : 247) มีความเห็นและตั้งข้อสังเกตไว้ว่า การปฏิบัติสมาธิของสายวัดมหาธาตุ ฯ นี้ เป็นสายการปฏิบัติธรรมที่ผู้มาฝึกจะได้ความรู้ทางอภิธรรมปิฎกด้วย เพราะการอธิบายการปฏิบัติ ตลอดจนปรากฏการณ์จากการปฏิบัติ ส่วนใหญ่อธิบายในภาษาของอภิธรรม ซึ่งทำให้มีหลักเกณฑ์น่าเชื่อถือ แต่ก็ยากแก่การเข้าใจของผู้ที่ไม่ได้มีความรู้ในอภิธรรมมาก่อน ยกเว้นว่าพระอาจารย์ที่ทำการสอนจะมีลำดับขั้นตอน การอธิบายในเบื้องต้นไม่ให้เป็นภาษาอภิธรรมจนเกินไปแล้ว จะเป็นที่สนใจชวนให้ฝึกเป็นอย่างมาก
                    เท่าที่กล่าวมา ส่วนใหญ่เป็นการเน้นการปฏิบัติวิปัสสนาในเบื้องต้นเท่านั้น เพราะเห็นว่าถ้าเบื้องต้นทำได้ถูกต้องเป็นสัมมาทิฏฐิแล้ว ผู้ปฏิบัติสามารถศึกษาและปฏิบัติในขั้นสูงขึ้นไปได้ไม่ยากนัก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แสวงบุญดินแดนพุทธภูมิ อินเดีย เนปาล กราบนมัสการองค์ดาไลลามะ ทิเบต

๑๙ มกราคม - ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ หลักสูตร ป.เอก  สาขาวิชาพุทธจิตวิทยา รุ่นที่ ๗  คุณะมนุษยศาสตร มจร  พระนครศรีอยุธยา ศึกษาดูงาน ต่าง...