วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2562

01-พระอัญญาโกณฑัญญะ เอตทัคคะในทางรัตตัญญู


พระอัญญาโกณฑัญญะ เกิดในตระกูลพราหมณ์ในหมู่บ้านโทณวัตถุ 
อันไม่ห่างไกลจากกรุงกบิลพัสดุ์ เดิมชื่อ “โกณฑัญญะ” เมื่อเจริญเติบโตขึ้นได้ศึกษาศิลปะวิทยาจบไตรเพทและวิชาการทำนายลักษณะอย่างเชี่ยวชาญ


•       รวมทำนายพระลักษณะ
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูติได้ ๕ วัน พระเจ้าสุทโธทนะพระบิดา ได้เชิญพราหมณ์
๑๐๘ คน มาเลี้ยงโภชนาหารในพระราชนิเวศน์ เพื่อทำพิธีทำนายพระลักษณะ ตามราชประเพณี
ให้คัดเลือกพราหมณ์ผู้มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษจาก ๑๐๘ คน เหลือ ๘ คน และมีโกณฑัญญะ
อยู่ในจำนวน ๘ คน นี้ด้วย ในบรรดาพราหมณ์ทั้ง ๘ คนนั้น โกณฑัญญะมีอายุน้อยที่สุดจึง
ทำนายเป็นคนสุดท้าย
ฝ่ายพราหมณ์ ๗ คนแรก ได้พิจารณาตรวจดูพระลักษณะของสิทธัตถะอย่างละเอียด
เห็นถูกต้องตามตำรามหาบุรุษลักษณะพยากรณ์ศาสตร์ ครบทุกประการแล้ว จึงยกนิ้วมือขึ้น ๒
นิ้ว เป็นสัญลักษณ์ในการทำนายเป็น 2 นัย เหมือนกันทั้งหมดว่า
“พระราชกุมารนี้ ถ้าดำรงอยู่ในเพศฆราวาส จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ปราบปราม
ได้รับชัยชนะทั่วปฐพีมณฑล จักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลก แนะ
นำสั่งสอนเวไนยสัตว์ โดยไม่มีศาสดาอื่นยิ่งไปกว่า”
ส่วนโกณฑัญญะพราหมณ์ ได้สั่งสมบารมีมาครบถ้วนตั้งแต่อดีตชาติ และการเกิดใน
ภพนี้ก็จะเป็นภพสุดท้าย จึงมีปัญญามากกว่าพราหมณ์ทั้ง ๗ คนแรก ได้พิจารณาตรวจดูพระ
ลักษณะของพระกุมาร โดยละเอียดแล้ว ได้ยกนิ้วขึ้นเพียงนิ้วเดียวเป็นการยืนยันการพยากรณ์
อย่างเด็ดเดี่ยวเป็นนัยเดียวเท่านั้นว่า
“พระราชกุมาร ผู้บริบูรณ์ด้วยมหาบุรุษลักษณะอย่างนี้ จะไม่อยู่ครองเพศฆราวาสอย่าง
แน่นอน จักต้องเสด็จออกบรรพชา และได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างมิต้องสงสัย”
•       ออกบวชติดตามสิทธัตถะ
ครั้นกาลเวลาล่วงเลยมาถึง ๒๙ ปี เจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกบรรพชาโกณฑัญญะ
พราหมณ์ทราบข่าวก็ดีใจ เพราะตรงกับคำทำนายของตน จึงรีบไปชวนบุตรของพราหมณ์ทั้ง ๗
คนที่ร่วมทำนายด้วยกันนั้น โดยกล่าวว่า:-
“บัดนี้ เจ้าชายสิทธัตถะราชกุมาร โอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ เสด็จออกบรรพชาแล้ว
พระองค์จักได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญเจ้าแน่นอน ถ้าบิดาของพวกท่านยังมีชีวิตอยู่ ก็คงจะออก
บวชด้วยกันกับเรา ถ้าท่านทั้งหลายปรารถนาจะบวชก็จงบวชตามเสด็จพระมหาบุรุษพร้อมกัน
เถิด”
บุตรพราหมณ์เหล่านั้น ยอมออกบวชเพียง ๔ คน คือ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และ
อัสสชิ โกณฑัญญะ จึงพามาณพทั้ง ๔ คนนั้นพร้อมทั้งตนด้วยรวมเป็น ๕ ได้นามบัญญัติว่า
“ปัญจวัคคีย์” ออกบวชสืบเสาะติดตามถามหาพระมหาบุรุษไปตามสถานที่ต่าง ๆ จนมาพบพระ
องค์กำลังบำเพ็ญความเพียรอยู่ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม
ด้วยความมั่นใจว่าพระองค์จะได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณอย่างแน่นอน จึงพา
กันเข้าไปอยู่เฝ้าทำกิจวัตรอุปัฏฐาก ด้วยการจัดน้ำใช้ น้ำฉัน และ ปัดกวาดเสนาสนะ เป็นต้น
ด้วยหวังว่าเมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว จะได้แสดงธรรมโปรดพวกตนให้รู้ตามบ้าง
เมื่อพระมหาบุรุษ ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาอย่างอุกฤษฏ์เป็นเวลาถึง ๖ ปี ก็ยังไม่ได้บรรลุ
พระโพธิญาณ จึงทรงพระดำริว่า “วิธีนี้คงจะไม่ใช่ทางตรัสรู้” จึงทรงเลิกละความเพียรด้วยวิธี
ทรมานกาย หันมาบำเพ็ญเพียรทางจิต เลิกอดพระกระยาหาร กลับมาเสวยตามเดิม เพื่อบำรุง
พระวรกายให้แข็งแรง
•       ปัญจวัคคีย์ปลีกตัวหลีกหนี
ฝ่ายปัญจวัคคีย์ ผู้มีความเลื่อมใสในการปฏิบัติ แบบทรมานร่างกาย ครั้นเห็นพระ
โพธิสัตว์ละความเพียรนั้นแล้ว ก็รู้สึกหมดหวัง จึงพากันเหลีกหนีทิ้งพระโพธิสัตว์ ให้ประทับอยู่
ตามลำพังพระองค์เดียว พากันเที่ยวสัญจรไปพักอาศัยอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน กรุงพาราณสี
ครั้นพระโพธิสัตว์ ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ทรงดำริพิจารณาหาบุคคลผู้
สมควรจะรับฟังพระปฐมเทศนา และตรัสรู้ตามได้โดยเร็วในชั้นแรก พระองค์ทรงระลึกถึง
อาจารย์ทั้งสองที่พระองค์เคยเข้าไปศึกษา คือ อาฬารดาบสกาลามโคตร แต่ได้ทราบว่าท่านได้ถึง
แก่กรรมไปได้ ๗ วัน แล้วและอีกท่านหนึ่ง คือ อุทกดาบสรามบุตร แต่ก็ได้ทราบด้วยพระญาณ
ว่าท่านเพิ่งจะสิ้นชีพไปเมื่อวันวานนี้เอง
ต่อจากนั้น พระพุทธองค์ทรงระลึกถึง ปัญจวัคคีย์ ผู้ซึ่งเคยมีอุปการคุณแก่พระองค์เมื่อ
สมัยทำทุกรกิริยา และทรงทราบว่าขณะนี้ท่านทั้ง ๕ พักอาศัย อยู่ที่ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ทรง
ดิริดังนี้แล้ว จึงได้เสด็จพุทธดำเนินไปสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
ฝ่ายปัญจวัคคีย์ นั่งสนทนากันอยู่ เห็นพระพุทธองค์เสด็จมาแต่ไกลเข้าใจว่า พระองค์
เสด็จมาเพื่อแสวงหาผู้อุปัฏฐาก จึงทำกติกากันว่า:-
“พระสมณโคดม นี้ คลายความเพียรแล้วเวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก พวกเราไม่
ควรไหว้ ไม่ควรลุกขึ้นต้อนรับ ไม่รับบาตรและจีวรของพระองค์เลย เพียงแต่จัดอาสนะไว้ เมื่อ
พระองค์ปรารถนาจะประทับนั่ง ก็จงนั่งตามพระอัธยาศัยเถิด”
ครั้นพระพุทธองค์เสด็จมาถึง ต่างพากันลืมกติกาที่นัดหมายกันไว้ กลับทำการต้อนรับ
เป็นอย่างดีดังที่เคยทำมา แต่ยังใช้คำทักทายว่า “อาวุโส” และเรียกพระนามว่า “โคดม” อันเป็น
ถ้อยคำที่แสดงความไม่เคารพ ดังนั้น พระพุทธองค์ทรงห้ามแล้วตรัสว่า:-
“อย่าเลย พวกเธออย่างกล่าวอย่างนั้น บัดนี้ ตถาคตได้บรรลุอมตธรรมเองโดยชอบแล้ว
เธอทั้งหลายจงตั้งใจฟังเถิด เราจะแสดงให้ฟัง เมื่อเธอปฏิบัติตามที่เราสอนแล้ว ไม่นานก็จะบรรลุ
อมตธรรมนั้น”
“อาวุโสโคดม แม้พระองค์บำเพ็ญอย่างอุกฤษฏ์เห็นปานนั้น ก็ยังไม่บรรลุธรรมพิเศษอัน
ใด บัดนี้พระองค์คลายความเพียรนั้นแล้วหันมาปฏิบัติเพื่อความเป็นคนมักมาก แล้วจะบรรลุ
อมตธรรมได้อย่างไร?”
พระพุทธองค์ตรัสเตือนปัญจวัคคีย์ ให้ระลึกถึงความหลังว่า “ท่านทั้งหลายจำได้หรือไม่
ว่า วาจาเช่นนี้ เราเคยพูดกับท่านบ้างหรือไม่” ปัญจวัคคีย์ ระลึกขึ้นได้ว่า พระองค์ไม่เคยตรัสมา
ก่อนเลย จึงยินยอมพร้อมใจกันฟังพระธรรมเทศนาโดยเคารพ
•       ฟังปฐมเทศนา
พระพุทธองค์ ทรงประกาศพระสัพพัญญุตญาณแก่เหล่าปัญจวัคคีย์ โดยตรัสพระ
ธรรมจักรกัปวัตนสูตร เป็นปฐมเทศนา ซึ่งเนื้อความในพระธรรมเทศนานี้ พระพุทธองค์ทรง
ตำหนิหนทางปฏิบัติอันไร้ประโยชน์ ๒ ทาง ที่บรรพชิตไม่ควรเสพ คือ
๑ กามสุขัลลิกานุโยค การปฏิบัติที่ย่อหย่อนเกินไป แสวงหาแต่กามสุขอันพัวพันหมก
มุ่นแต่รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส ซึ่งเป็นสิ่งเลวทราม เป็นเหตุให้ตั้งบ้านเรือน เป็นกิจของ
คนกิเลสหนา มิใช่ของพระอริยะ มิใช่ทางตรัสรู้หาประโยชน์มิได้
๒ อัตตกิลมถานุโยค การปฏิบัติตนให้ได้รับความลำบาก เคร่งครัดเกินไป กระทำตน
ให้ได้รับความทุกข์ทรมาน เป็นการกระทำที่เหนื่อยเปล่า ไม่มีประโยชน์ ไม่ใช่ทางแห่งความ
หลุดพ้น
จากนั้น พระพุทธองค์ตรัสชี้แนะวิธีปฏิบัติ แบบ “มัชฌิมาปฏิปทา” คือ การปฏิบัติแบบ
กลาง ๆ ไม่ย่อหย่อนเกินไปแบบประเภทที่หนึ่ง และไม่ตึงเกินไป แบบประเภทที่สอง ดำเนินตาม
ทางสายกลางซึ่งเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เรียกว่า อริยอัฏฐังคิกมรรค คือทางอัน
ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ได้แก่
๑ สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ (ปัญญาเห็นในอริยสัจ ๔)
๒ สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ (ดำริออกจากกาม เบียดเบียนพยายาม)
๓ สัมมาวาจา เจรจาชอบ (เว้นจากวจีทุจริต ๔)
๔ สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ (เว้นจากกายทุจริต ๓)
๕ สัมมาอาชีพ เลี้ยงชีพชอบ (เว้นจากเลี้ยงชีพในทางที่ผิด)
๖ สัมมาวายะมะ เพียรชอบ (เพียรละความชั่วทำความดี)
๗ สัมมาสติ ระลึกชอบ (ระลึกในสติปัฏฐาน ๔)
๘ สัมมาสมาธิ ตั้งจิตไว้ชอบ (เจริญฌานทั้ง ๔)
เมื่อจบพระธรรมเทศนา ธรรมจักษุ คือ ดวงตาเห็นธรรมอันปราศจากธุลีมลทิน เกิดขึ้น
แก่โกณฑัญญะว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็น
ธรรมดา”
พระพุทธองค์ ทรงทราบว่า โกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาบันบุคคลใน
พระพุทธศาสนาแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานด้วยความพอพระทัยด้วยพระดำรัสว่า:-
“อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ” ซึ่งแปลว่า “โกณฑัญญะ
ได้รู้แล้วหนอ โกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอ” ด้วยพระพุทธดำรัสนี้ คำว่า “อัญญา” จงเป็นคำนำหน้า
ชื่อของท่าน โกณฑัญญะ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนเป็นที่รู้ทั่วกันว่า พระอัญญาโกณฑัญญะ
•       พระสงฆ์รูปแรกในพุทธศาสนา
ต่อจากนั้น ท่านได้กราบทูลขออุปสมบท พระพุทธองค์ประทานการอุปสมบทให้ด้วย
พระดำรัสว่า:-
“เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่
สุดทุกข์โดยชอบเถิด”
ด้วยพระวาจาเพียงเท่านี้ โกณฑัญญะ ก็สำเร็จเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา นับว่า
เป็นพระสงฆ์รูปแรกในโลก และการอุปสมบทด้วยวิธีนี้เรียกว่า “เอหิภิกขุอุปสัมปทา”

วันต่อ ๆ มา ท่านที่เหลืออีก ๔ คน ก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน และอุปสมบทด้วยกันทั้ง
หมด พระพุทธองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า พระปัจวัคคีย์ มีญาณแก่กล้า พอที่จะบรรลุธรรมเบื้องสูง
ได้แล้ว จึงตรัสพระธรรมเทศนา “อนัตตลักขณสูตร” คือสูตรที่แสดงลักษณะแห่งเบญจขันธ์ว่า
เป็นอนัตตาความไม่มีตัวตน โปรดพระปัญจวัคคีย์ เมื่อจบพระธรรมเทศนา ก็ได้บรรลุพระ
อรหัตผล เป็นพระอเสขบุคคลด้วยกันทั้งหมด ขณะนั้น มีพระอรหันต์ เกิดขึ้นในโลก ๖ องค์
รวมทั้งพระบรมศาสดาด้วย
•       ได้รับยกย่องทางรัตตัญญู
พระอัญญาโกณฑัญญะ เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้ว พระพุทธองค์ทรงส่งออกไป
ประกาศพระศาสนาพร้อมกับพระสาวกรุ่นแรก จำนวน ๖๐ รูป ท่านได้เดินทางไปยังบ้านเดิม
ของท่าน ได้นำหลานชายชื่อ ปุณณมันตานี ซึ่งเป็นบุตรของ นางมันตานี ผู้เป็นน้องสาวของท่าน
มาบวช และได้มีชื่อว่า พระปุณณมันตานีบุตรเถระ
เพราะความที่ท่านเป็นพระเถระ ผู้มีอายุพรรษากาลมาก มีประสบการณ์มาก จึงได้รับยก
ย่องจากพระบรมศาสดา ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นเลิศกว่าภิกษุ ทั้งหลายในทาง ผู้รัตตัญญู
หมายถึง ผู้รู้ราตรีนาน
•       บั้นปลายชีวิต
พระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นพระเถระผู้เฒ่า ไม่ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ชอบหลีกเร้น
อยู่ในสถานที่อันสงบวิเวกตามลำพัง ในคัมภีร์มโนรถปูรณี และคัมภีร์ธุรัตวิลาสินี กล่าวไว้ตรง
กันว่า เป็นเวลา ๑๒ ปี ก่อนที่ท่านจะนิพพานท่านได้กราบทูลลาพระบรมศาสดาไปจำพรรษา ณ
ป่าหิมพานต์ ตามลำพัง นอกจากต้องการความสงบดังกล่าวแล้ว ยังมีเหตุผลส่วนตัวของท่าน อีก
๓ ประการคือ
๑ ท่านไม่ประสงค์จะเห็นพระอัครสาวก คือ พระสารีบุตรเถระ และพระมหาโมคคัล
ลานเถระ ผู้เป็นกำลังสำคัญในการช่วยแบ่งเบาภาระของพระพุทธองค์ กิจการพระศาสนาด้าน
ต่าง ๆ ที่ต้องมาแสดงความเคารพนอบน้อมต่อพระผู้เฒ่าชราอย่างท่าน ซึ่งสังขารนับวันจะร่วงโรย
และใกล้แตกดับเข้าไปทุกขณะ
๒ ท่านได้รับความเหน็ดเหนื่อยอย่างมาก ที่ต้องคอยต้อนรับผู้ไปมาหาสู่ ซึ่งมีทั้ง
บรรพชิตและคฤหัสถ์ การอยู่ในเสนาสนะใกล้บ้านจึงไม่เหมาะสมสำหรับพระแก่ชราอย่างท่าน
๓ ท่านเบื่อหน่ายในความดื้อรั้น ของพระสัทธิวิหาริกรุ่นหลัง ๆ ที่มักประพฤตินอกลู่
นอกทาง ห่างไกลจากการบรรลุมรรคผล
ท่านได้อยู่จำพรรษา ในป่าหิมพานต์ บริเวณใกล้สระฉัททันต์ เป็นเวลานาน ๑๒ ปี วันที่
ท่านจะนิพพาน ท่านพิจารณาอายุสังขารแล้ว ได้มาเฝ้าพระพุทธองค์ เพื่อกราบทูลลานิพพาน
ครั้นพระพุทธองค์ประทานอนุญาตแล้ว ท่านเดินทางกลับยังป่าหิมพานต์ และนิพพานใน
บรรณศาลาที่พักริมสระฉัททันต์นั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกจำนวนมาก ได้
เสด็จไปทำฌาปนกิจศพให้ท่าน

  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แสวงบุญดินแดนพุทธภูมิ อินเดีย เนปาล กราบนมัสการองค์ดาไลลามะ ทิเบต

๑๙ มกราคม - ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ หลักสูตร ป.เอก  สาขาวิชาพุทธจิตวิทยา รุ่นที่ ๗  คุณะมนุษยศาสตร มจร  พระนครศรีอยุธยา ศึกษาดูงาน ต่าง...